นายประเสริฐ สีน้ำเพชร อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา + ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) + สนง.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เชิญ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย พูด “การสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนบางคล้าสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ตามโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) ในชุมชนบางคล้า 08.00-12.00 น. พุธ 26 สิงหาคม 2563 ที่โรงแรมที วินเทจ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ท่านที่จะเข้าร่วมต้องติดต่อผู้จัดงานก่อนครับที่ 09-4956-5416
ตอนนี้ยังมีการประท้วงประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ทั้งในเบลารุส ลิทัวเนีย สาธารณรัฐเชก และโปแลนด์ ขณะที่เขียนคอลัมน์รับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพอยู่ในขณะนี้ สหภาพยุโรป (อียู) กำลัง เตรียมออกมาตรการแซงก์ชันเบลารุส ตอบโต้ที่รัฐบาลของนายลูคาเชนโกใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วง
สหรัฐฯและตะวันตกทำลายเครือข่ายของรัสเซียที่เป็นประเทศที่มีพรมแดนประชิดติดกับรัสเซียด้วยการจัดประท้วง ส่วนเครือข่ายของสหรัฐฯและตะวันตกที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียไม่ถูกทำลาย แถมยังได้รับการสนับสนุนเสียอีก เช่น อูเครน จอร์เจีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย ฟินแลนด์ ฯลฯ
เบลารุสเคยถูกผนวกเข้ากับจักรวรรดิรัสเซียในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และก็โดนนโยบาย Russianization (เปลี่ยน ทุกอย่างให้เป็นรัสเซีย) เล่นซะจนแทบสิ้นชาติ รัสเซียเคยบังคับให้องค์การศาสนจักรของเบลารุสรวมเข้ากับนิกายรัสเชียนออร์-ทอดอกซ์ เคยห้ามใช้ภาษาเบลารุสในโรงเรียนและในกิจกรรมทางสังคม เบลารุสเป็นประเทศยากจนและอ่อนแอในทุกเรื่อง ต่อต้านมหาอำนาจอย่างรัสเซียได้ยาก แถมประชาชนก็อยู่อย่างอัตคัดขัดสน ในอดีตเศรษฐกิจของเบลารุสอยู่ในมือคนยิว คนรัสเซีย และคนโปแลนด์
...
ตอนที่ราชวงศ์โรมานอฟรัสเซียถูกล้มเมื่อกุมภาพันธ์ ค.ศ.1917 พวกปัญญาชนเบลารุสประกาศจัดตั้งประเทศใหม่ชื่อ “สาธารณรัฐประชาชนเบโลรัสเซีย” อีก 8 เดือนต่อมามีการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ.1917 ในรัสเซีย พรรคบอลเชวิกส่งกองทัพแดงเข้าไปล้มระบอบการปกครองใหม่ของเบลารุส และเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เบลารุสก็อยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมนี
เยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 เบลารุสจึงประกาศเอกราช มีเอกราชได้เพียงระยะเวลาอันสั้นก็โดนโซเวียตเข้าไปยึดและเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเบโลรัสเซีย ต่อมาร่วมกับลิทัวเนียเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตลิทัวเนีย-เบโลรัสเซีย ตอนที่สตาลินเป็นผู้นำสหภาพโซเวียต แกปราบชาวเบลารุสอย่างรุนแรง ทั้งฆ่า ทั้งอุ้มหายไปเป็นจำนวนมาก
นโยบายของโซเวียตคือส่งชาวรัสเซียไปอยู่ในทุกประเทศที่ตนเข้าไปปกครอง ในเบลารุสก็เหมือนกัน พอมีสัดส่วนพลเมืองชาวรัสเซียเยอะแล้ว โซเวียตก็ออกกฎหมายห้ามพูดภาษาเบลารุส และให้ใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการ
จนถึงยุคนายกอร์บาชอฟเป็นผู้นำโซเวียต แกยอมให้รัฐบาลระดับสาธารณรัฐโซเวียตทั้ง 15 แห่งมีอำนาจอธิปไตย สามารถดำเนินกิจการภายในได้อย่างอิสระ แต่ว่ายังร่วมอยู่ในเครือสหภาพโซเวียต การผ่อนคลายนี้ทำให้เบลารุสประกาศเอกราชเมื่อ 25 สิงหาคม 1991 และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐเบลารุส มีนายลูคาเชนโกเป็นประธานาธิบดีคนแรกเมื่อ ค.ศ.1994 ในสมัยนั้น คนเบลารุสชอบนายลูคาเชนโกมาก ยิ่งแกออกนโยบายต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวงและหนุนความร่วมมือกับรัสเซีย คนก็เอาด้วยกับแกเกือบทั้งประเทศ
ค.ศ.1995 ลูคาเชนโกให้ประชาชนลงประชามติหนุนนโยบายเรื่องผนึกรวมกับรัสเซียทางเศรษฐกิจ ใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการ ใช้ธงชาติเดิมแทนธงชาติใหม่ ให้อำนาจประธานาธิบดียุบสภาได้ ตอนเป็นผู้นำใหม่ๆ ซึ่งอยู่ในช่วงฮันนีมูน ประชาชนลงประชามติสนับสนุนแนวนโยบายของลูคาเชนโกมากถึงร้อยละ 64.7
ลูคาเชนโกเคยประกาศว่าแกเหมือนกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ผู้ที่จะมาสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงทางสังคมให้เบลารุสไปสู่ความรุ่งเรือง
แต่ความจริง 26 ปีที่ปกครองเบลารุส
ลูคาเชนโกทำให้เบลารุสยากจนมาก.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com