ทีมวิจัยจากนิวซีแลนด์และสหรัฐอเมริกา นำโดยพิพิธภัณฑ์เท ปาปา แห่งนิวซีแลนด์ รายงานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลเพนกวินในกลุ่มมีขนสวยงามที่ตา (Crested penguins) ระบุว่าอายุเก่าแก่ 3,360,000 ปี ขุดพบที่ใต้หินตามแนวชายฝั่งใกล้ภูเขาไฟทารานากิ บนเกาะเหนือของนิวซีแลนด์

ทีมวิจัยเชื่อว่าเพนกวินชนิดนี้ มีความเชื่อมโยงกับเพนกวินยุคปัจจุบัน เนื่องจากซากฟอสซิลมีทั้งขน, ขา, กระดูกซี่โครง, กระดูกปีก, กะโหลกศีรษะ, ขากรรไกร และจะงอยปาก ซึ่งเพียงพอที่จะระบุได้ว่าเพนกวินตัวนี้เป็นสมาชิกของสกุล Eudyptes เป็นวงศ์นกเพนกวินมีขนที่ตา ทีมตั้งชื่อซากฟอสซิลนี้ว่า Eudyptes atatu แปลว่า “รุ่งอรุณ” ในภาษาเมารี ทั้งนี้ เพนกวินมีขนใต้ตามีลักษณะเด่นคือกระจุกขนที่งอกออกมาจากด้านข้างศีรษะ เพนกวินมีขนที่ตาสมัยใหม่จะมีขนสีดำและขาว ส่วนดวงตา จะงอยปาก รวมถึงขนใต้ตาจะเป็นสีแดง อาศัยอยู่บนเกาะในมหาสมุทรทางใต้ นักวิจัยเชื่อว่า Eudyptes atatu น่าจะมีลักษณะคล้ายกัน โดยจะงอยปากมีสีแดงและขนสีเหลือง

อย่างไรก็ตาม ทีมสังเกตว่าจะงอยปากของเพนกวินโบราณชนิดนี้ ไม่กว้างเท่ากับเพนกวินมีขนที่ตาสมัยใหม่ ซึ่งชี้ว่ามันน่าจะมีแหล่งอาหารที่แตกต่างจากเพนกวินสมัยใหม่ นักวิจัยยังหวังว่าการศึกษาเพิ่มเติมจะช่วยในการพัฒนาลำดับวงศ์สกุลบรรพบุรุษของเพนกวินมีขนที่ตา หรือนกทะเลชนิดอื่นๆได้.

(ภาพประกอบ Credit : Proceedings of the Royal Society B (2020). 10.1098/rspb.2020.1497)