ชาวญี่ปุ่นที่รอดชีวิตจากเหตุระเบิดนิวเคลียร์ถล่มเมืองฮิโรชิมา เมื่อ 75 ปีก่อน ร่วมพิธีรำลึกที่จัดขึ้นพร้อมความหวังให้โลกปลอดนิวเคลียร์
(6 ส.ค.63) ชาวญี่ปุ่นรวมทั้งผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดนิวเคลียร์ในเมืองฮิโรชิมา เข้าร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 75 ปีแห่งความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ โดยเมื่อเวลา 08.15 นาฬิกา ได้มีการตีระฆังบอกเวลาเริ่มต้นการสงบนิ่งไว้อาลัยเป็นเวลา 1 นาที ซึ่งตรงกับช่วงเวลา 08.15 นาฬิกา ของเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2488 ที่ลูกระเบิดนิวเคลียร์ "ลิตเติลบอย" ของกองทัพสหรัฐฯ ถูกทิ้งลงมาถล่มเมืองฮิโรชิมา สังหารชาวญี่ปุ่น 140,000 ศพ ส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไปและเป็นเด็กๆ

...

พิธีรำลึกไว้อาลัยจัดขึ้นที่อนุสรณ์สถานสันติภาพเมืองฮิโรชิมา ในปีนี้ลดจำนวนผู้เข้าร่วมงานจากกว่า 10,000 คน ให้เหลือไม่ถึง 1,000 คน เพื่อเป็นการปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมในช่วงที่กำลังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ กล่าวสุนทรพจน์ไว้อาลัยที่ระบุว่า ญี่ปุ่นยังคงยึดมั่นอย่างหนักแน่นใน "หลักสามประการในการปลอดนิวเคลียร์" นั่นคือ การไม่ผลิต ไม่ครอบครอง และไม่นำเข้าอาวุธนิวเคลียร์
ด้านนายคาซูมิ มัทสึอิ นายกเทศมนตรีเมืองฮิโรชิมา กล่าวเรียกร้องให้บรรดาผู้นำทั่วโลกหันมาจริงจังกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์ โดยดูโศกนาฏกรรมที่ชาวญี่ปุ่นต้องเผชิญเป็นบทเรียน

อย่างไรก็ตาม ชาวญี่ปุ่นที่ร่วมพิธีรำลึกในครั้งนี้มองว่า สุนทรพจน์ของนายอาเบะ ทำให้พวกเขาอดไม่ได้ที่จะคิดถึงนโยบายเสแสร้งของรัฐบาล ซึ่งมีท่าทีต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมเป็นฐานทัพให้กับสหรัฐฯ อ้าแขนรับทหารอเมริกัน 5,000 คน บนเกาะโอกินาวา เพื่อแลกกับการได้รับความคุ้มครองจากสหรัฐฯ และรัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่ยอมลงนามในสนธิสัญญาห้ามแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ปี 2560.
...