ผลการลงประชามติอย่างไม่เป็นทางการชี้ ชาวรัสเซียเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยากเห็นประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ครองอำนาจยาวๆ ไปจนถึงปี 2579
เมื่อวันที่ 1 ก.ค.63 การลงประชามติ "รีเซต" ของรัสเซียได้เสร็จสิ้นลงแล้ว หลังจากที่เปิดให้ประชาชนทยอยออกมาใช้สิทธิล่วงหน้า 1 สัปดาห์เต็ม ล่าสุดนับคะแนนไปแล้ว 3 ใน 4 ผลปรากฏออกมาแน่ชัดว่า ผู้ใช้สิทธิถึง 77.6% เห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขยายวาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี จากเดิมสมัยละ 4 ปี มาเป็น 6 ปี
คิดง่ายๆ ว่า หากประธานาธิบดีปูตินหมดวาระในอีก 4 ปีข้างหน้าแล้วต้องการจะอยู่อีกสัก 2 สมัยติดกัน ก็จะได้อีก 12 ปี เบ็ดเสร็จแล้ว ชาวรัสเซียจะอยู่ภายใต้การปกครองของปูตินไปอีก 16 ปี
หลายฝ่ายมองว่าการลงประชามติครั้งนี้ แท้จริงแล้วไม่ได้มีความจำเป็นเท่าไหร่เพราะสภาดูมาได้ผ่านความเห็นชอบการแก้รัฐธรรมนูญไปแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม นายเกล็บ พาฟลอฟสกี้ อดีตที่ปรึกษาทางการเมืองในทำเนียบเครมลิน มองว่า การที่ปูตินเริ่มผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม แล้วมาเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ยังเดินหน้าต่อจนสำเร็จ แม้การลงประชามติต้องเลื่อนมาจากเมื่อวันที่ 22 เมษายน เป็นการสะท้อนถึงความรู้สึกไม่มั่นคงทางการเมืองของเขาในขณะนี้ สะท้อนความไม่เชื่อมั่นคนใกล้ชิดวงในและความวิตกกังวลของเขาเองที่มีต่ออนาคต ก็เลยต้องการให้การสนับสนุนจากสาธารณชนมาเป็นหลักประกัน
...
- ที่มาของความเห็นชอบ
การขยายวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นเพียงเรื่องที่ถูกนำมาสอดแทรกลงในเนื้อหาของการลงประชามติแก้รัฐธรรมนูญแบบเหมาเข่ง ซึ่งประกอบไปด้วยประเด็นสำคัญหลากหลายกว่า 200 มาตรา อย่างการยกระดับสวัสดิการสังคม การบูรณาการทางด้านเศรษฐกิจ และไม่รับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน
นอกจากนี้ยังระบุให้การนับถือพระเจ้าเป็นค่านิยมหลักของชาติ โดยเนื้อหาเหล่านี้ไม่สามารถโหวตแยกรายมาตราได้ ส่งผลให้มีประชาชนเพียง 21% เท่านั้น ที่ตัดสินใจโหวต‘No’เพียงเพราะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาบางส่วน
โดยฝ่ายค้านมองว่ารัฐบาลมีเล่ห์เหลี่ยมในการทำให้คนออกมาลงคะแนนกันเยอะๆ แล้วสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ มีการแจกของกำนัล แจกรถ แจกอพาร์ตเมนต์ให้คนที่ออกมาใช้สิทธิ มีการจัดรถบัสรับส่งผู้ถือพาสปอร์ตรัสเซียที่ข้ามพรมแดนจากยูเครนมาช่วยลงคะแนน นอกจากนี้การขยายเวลาให้ใช้สิทธิได้ถึง 1 สัปดาห์ก็เป็นการเอื้อต่อการกระทำฉ้อฉลกับบัตรลงคะแนน
- อนาคตการเมืองรัสเซีย
นายปูติน วัย 67 ปีเข้ารับตำแหน่งผู้นำรัสเซียตั้งแต่ปี 2542 เป็นประธานาธิบดีมา 4 สมัยแล้ว แม้ว่าเริ่มจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนจะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และบางช่วงก็คั่นด้วยการไปเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเลี่ยงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ห้ามเป็นประธานาธิบดี 2 สมัยติดต่อกัน แต่ก็เรียกได้ว่าเขาบริหารประเทศมากกว่า 2 ทศวรรษแล้ว ยาวนานกว่าผู้นำเครมลินคนไหนๆ นับตั้งแต่โจเซฟ สตาลิน อดีตผู้นำเผด็จการโซเวียต
บรรดาฝ่ายค้านในรัสเซียออกมาระบุว่า ปูตินพยายามที่จะเป็นประธานาธิบดีไปตลอดชีวิต บ้างก็ว่าเขาทำตัวเป็นพระเจ้าซาร์คนใหม่ แต่เขาปฏิเสธและบอกว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการช่วยให้ทุกคนหันมาโฟกัสที่การทำงานเพื่อประเทศชาติมากขึ้น ไม่ต้องมัวไปเสียเวลากับการคอยจับตาหาผู้สืบทอดอำนาจคนใหม่
นายรามซาน คาดีรอฟ ผู้นำเชชเนียที่เป็นพันธมิตรกับปูตินถึงกับกล่าวอวยว่า ณ เวลานี้คงยากมากที่จะไปหาใครมาแทนปูติน ขนาดผู้นำทางการเมืองบนเวทีโลกยังไม่มีใครเทียบเท่าปูติน
...
ชาวรัสเซียปฏิเสธไม่ได้ว่า รัสเซียเมื่อ 20 กว่าปีก่อน กับรัสเซียในวันนี้ มีความแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว ปูตินกำลังพาประเทศเดินหน้าเข้าสู่นโยบาย "รัสเซียมาก่อน" และรัสเซียกำลัง "ตามรอยจีน" ที่ไม่เพียงแต่กำลังหลอมรวมระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมกับทุนนิยมเข้าด้วยกัน แต่ยังยกระดับบทบาทในเวทีโลก เพื่อส่งเสริมเสรีนิยม ล้มล้างแนวคิดลัทธิปัจเจกชนนิยมแบบชาติตะวันตก ที่กำลังเดินไปสู่ความเสื่อมสลาย
แคธรีน เบลตัน ผู้เขียนหนังสือ "Putin’s People" มองว่า สำหรับบทบาทการเมืองโลกปูตินเล่นเกมอันชาญฉลาดยื่นหน้าแทงหลังตามแบบฉบับสายลับ KGB เก่ามาหลายทศวรรษแล้ว อย่างการแทรกแซงในยูเครน จอร์เจีย ซีเรียและลิเบีย เพื่อปลุกปั่นชาติตะวันตก แต่เกิดเสถียรภาพภายในรัสเซีย รวมถึงความพยายามที่จะแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเราจะได้เห็นการเล่นเกมแบบนี้ต่อไปอีกหลายทศวรรษ.