ผลการลงประชามติเบื้องต้นพบว่า ชาวรัสเซียสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเปิดทางประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน สามารถครองอำนาจต่อถึงปี 2579 อย่างท่วมท้น

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันพุธที่ 1 ก.ค. 2563 ชาวรัสเซียนับล้านคนออกไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงประชามติ ที่ถามพวกเขาว่า เห็นชอบหรือคัดค้าน การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 206 ข้อ ซึ่งผ่ายความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลังจากนับคะแนนไปแล้ว 85% พบว่า ประชาชนถึง 77.8% สนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญ

การลงประชามติครั้งนี้ถูกเลื่อนจากกำหนดการเดิมในวันที่ 22 เม.ย. เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผู้มาใช้สิทธิ์ 65% ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. ในรูปแบบการลงคะแนนเสียงล่วงหน้า และลงคะแนนเสียงผ่านทางออนไลน์

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย
วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

...

ทั้งนี้ การแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าว จะ ‘รีเซต’ วาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งคือนายวลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งกำลังครองตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 และสมัยสุดท้ายที่สามารถเป็นต่อเนื่องกันได้ ให้กลับไปตั้งต้นใหม่ เปิดทางให้นายปูตินสามารถลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้อีก 2 ครั้งติดต่อกัน หลังจากเขาดำรงตำแหน่งครบวาระ 6 ปีในปี 2567

สำนักข่าว อาร์ที ของรัสเซีย ยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นไปได้ในทางทฤษฎี แต่จนถึงตอนนี้นายปูตินวัย 67 ปี ยังไม่ได้ตัดสินใจว่า จะลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำประเทศสมัยต่อไปหรือไม่

อนึ่ง การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ยังมีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องอื่นๆ รวมถึงห้ามผู้ที่เคยถือสัญชาติอื่นและอาศัยอยู่ในรัสเซียน้อกว่า 25 ปี ลงเลือกตั้ง ยกเว้นชาวแคว้นไครเมีย ที่รัสเซียเพิ่งผนวกเป็นของตัวเองในปี 2557 และห้ามผู้ที่ถือสัญชาติอื่นหรือชาวต่างชาติที่ถือวีซ่าพลเรือน รับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล

นอกจากนี้ยังมีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับปัญหาสังคม รวมทั้งการรับประกันรายได้ขั้นต่ำให้เหนือกว่าระดับยังชีพ, ปรับดัชนีเงินบำนาญให้เข้ากับอัตราเงินเฟ้อ, จำกัดความคำว่า แต่งงาน คือการสมรสกันระหว่างชาย 1 คน และหญิง 1 คน และให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญของประเทศก่อน ในกรณีเกิดความขัดแย้งกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ