“ผมมาที่นี่ในวันนี้ เพื่อร้องขอให้พวกคุณช่วยหยุด หยุดยั้งความเจ็บปวด และปลดปล่อยพวกเราจากความเหนื่อยล้า” น้องชายจอร์จ ฟลอยด์ ต้องเช็ดน้ำตา ขณะมาให้ข้อมูลต่อสภาคองเกรส
เมื่อ 11 มิ.ย.63 สำนักข่าวซินหัวรายงานนาย ฟิโลนิส ฟลอยด์ (Philonise Floyd) น้องชายของ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาที่เสียชีวิตขณะถูกตำรวจจับกุม และจุดกระแสการประท้วงทั่วสหรัฐฯ และในหลายประเทศทั่วโลก ได้ขึ้นกล่าวให้ข้อมูลต่อสภาคองเกรส ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันพุธ (10 มิ.ย.) “ผมมาที่นี่ในวันนี้ เพื่อร้องขอให้พวกคุณช่วยหยุด หยุดยั้งความเจ็บปวด และปลดปล่อยพวกเราจากความเหนื่อยล้า”
ในคำให้การสุดสะเทือนอารมณ์ของเขาต่อสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่มีชื่อว่า “แนวทางกำกับและความรับผิดชอบในการบังคับใช้กฎหมาย” (Policing Practices and Law Enforcement Accountability) ฟลอยด์ผู้เป็นน้องเรียกร้องให้เหล่าผู้บัญญัติกฎหมายให้เกียรติผู้คนทั่วโลกที่กำลังเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง ภายหลังการเสียชีวิตของพี่ชายเขา โดย “ให้เกียรติพวกเขา ให้เกียรติจอร์จ และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นทางออก ไม่ใช่ปัญหา”

...
“หากความตายของเขาเปลี่ยนโลกไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งผมคิดว่ามันจะเปลี่ยนแน่ นั่นหมายความว่าแม้ตัวเขาจะจากไป แต่สิ่งที่เขาทิ้งไว้เบื้องหลังยังคงอยู่ คุณต้องทำให้แน่ใจว่าความตายของจอร์จไม่ไร้ค่า” น้องชายของฟลอยด์ กล่าว
การพิจารณาคดีมีขึ้นในวันพุธ (10 มิ.ย.) เป็นเวลา 1 วันหลังจากงานศพของฟลอยด์ และ 2 วันนับจากสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรคเดโมแครต นำเสนอกฎหมายมุ่งปฏิรูปตำรวจ ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการดำเนินคดีกับตำรวจที่ประพฤติมิชอบ และป้องกันการใช้กำลังเกินเหตุในการบังคับใช้กฎหมาย

คาเรน บาสส์ (Karen Bass) สมาชิกสภาคองเกรสจากพรรคเดโมแครต และประธานกลุ่มสมาชิกสภาผิวสี หรือ ‘แบล็ก คอคัส แห่งสภาคองแกรส’ (Congressional Black Caucus) ซึ่งเป็นกลุ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติความยุติธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจปี 2020 (Justice in Policing Act of 2020) กล่าวว่าเธอหวังว่าร่างกฎหมายจะผ่านสภาทั้งสองและออกเป็นกฎหมายในที่สุด เพื่อที่เราจะได้ “ไม่พบเจอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนซ้ำอีกเป็นอันขาด”
บาสส์ เรียกพฤติกรรมรุนแรงของตำรวจว่าเป็น “ความอับอายของสหรัฐฯ ต่อหน้าผู้คนทั้งโลก” โดยระบุว่าสหรัฐฯ ซึ่งมักกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอื่น ควรเคารพพันธกรณีของตนที่มีต่อสิทธิมนุษยชนด้วย “ขณะที่เราค้ำชูสิทธิมนุษยชนในโลกใบนี้ เราต้องค้ำจุนแนวคิดดังกล่าวในประเทศของเราเช่นกัน”
ทั้งนี้ วันที่ 25 พ.ค. 63 จอร์จ ฟลอยด์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดที่ลำคอในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตนาน 8 นาที 46 วินาที ในเมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตา แม้เขาจะเฝ้าคร่ำครวญร้องขอชีวิต ด้านเดเร็ก เชาวิน (Derek Chauvin) นายตำรวจผู้ลงมือซึ่งถูกปลดจากตำแหน่งแล้ว และถูกควบคุมตัวระหว่างการดำเนินคดีข้อหาฆาตกรรม
“ผมไม่สามารถบอกได้ว่ามันเจ็บปวดแค่ไหน เมื่อคุณเห็นพี่ชายที่คุณชื่นชมและยึดถือเป็นแบบอย่างมาทั้งชีวิตต้องตาย ตายโดยที่คร่ำครวญถึงผู้เป็นแม่” น้องชายของฟลอยด์ กล่าวด้วยความเสียใจจนไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้