การค้นพบซากอาหารในกระเพาะอาหารของซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลไดโนเสาร์นับว่าเป็นสิ่งหายากเป็นพิเศษ ซึ่งการศึกษาเกี่ยวกับอาหารที่ไดโนเสาร์กินนั้น จะสามารถบอกได้ถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกรายละเอียดที่ไม่ได้มาจากซากโครงกระดูก ไดโนเสาร์

ล่าสุด ทีมนักบรรพชีวินวิทยานำโดยราชพิพิธภัณฑ์ไทร์เรล ในแคนาดา ค้นพบว่ากระเพาะอาหารของโนโดซอร์ (Nodosaur) ไดโนเสาร์หุ้มเกราะชนิดกินพืช ที่มีชีวิตอยู่เมื่อกว่า 110 ล้านปี ที่แล้ว อาหารในกระเพาะถูกเก็บรักษาในสภาพดีที่สุดเท่าที่เคยพบมา ไดโนเสาร์หุ้มเกราะตัวนี้คือ Borealopelta markmitchelli หนัก 1,300 กิโลกรัม นักบรรพชีวินวิทยาเผยว่า เมื่อมันกินอาหารมื้อสุดท้ายและตายไป ร่างของมันก็ลอยออกสู่ทะเลในพื้นที่ที่ปัจจุบันคือตอนเหนือของรัฐอัลเบอร์ตาในแคนาดา ร่างดังกล่าวจมโคลนก้นทะเลฝังอยู่ในนั้นมายาวนาน จนกระทั่งกลายเป็นฟอสซิลถูกพบที่เหมืองแห่งหนึ่งใกล้ฟอร์ต แมคเมอเรย์ ในปี พ.ศ.2554

การวิจัยก่อนหน้านี้เผยว่าพบหลักฐานในลำไส้คือเมล็ดและกิ่งไม้ แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลว่าชนิดของพืชที่ไดโนเสาร์กินเข้าไปคืออะไร การวิจัยครั้งใหม่ได้ตรวจดูส่วนท้องด้วยกล้องจุลทรรศน์จึงได้เห็นวัตถุที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ทีมระบุได้ว่ามีเรณูสัณฐาน 48 ชนิดเป็นซากฟอสซิลละอองเกสร สปอร์ ตะไคร่น้ำ ลิเวอร์เวิร์ต คลับมอสส์ เฟิร์น พืชเมล็ดเปลือย และพืชดอก รวมถึงผงถ่านจำนวนมากในกระเพาะอาหาร ผงถ่านมาจากเศษพืชที่ถูกไฟไหม้ชี้ว่าสัตว์น่าจะเข้าไปในบริเวณที่ถูกเผา แสดงให้เห็นว่าสัตว์มีการปรับตัวให้เข้ากับระบบนิเวศของไฟ.