กรณีการเสียชีวิตของ นายจอร์จ ฟลอยด์ ปลุกกระแสต่อต้านการเหยียดสีผิว โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อคนผิวสีให้ปะทุกลับมาอีกครั้ง และดูเหมือนจะรุนแรงกว่าครั้งไหนๆ เมื่อมีกระแสเรียกร้องให้ตัดงบประมาณ หรือยุบหน่วยตำรวจไปเลย เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ประท้วงมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ ‘การตัดงบตำรวจ’ (defund the police) มีความหมายว่าอย่างไร ปฏิกิริยาจากหน่วยงานปกครองเมืองต่างๆ เป็นแบบไหน และมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

*การตัดงบตำรวจคืออะไร?

ตามรายงานของ เดอะ การ์เดียน การตัดงบตำรวจก็คือ การตัดงบประมาณที่จะให้แก่ตำรวจและทัณฑสถานต่างๆ และโยกเงินส่วนนั้นไปใช้ในด้านอื่นๆ โดยมีหลักการพื้นฐานว่า งบประมาณของรัฐบาลและการใช้จ่ายเพื่อความปลอดภัยทางสังคม ควรให้ความสำคัญในด้านที่อยู่อาศัย, การจ้างงาน, สาธารณสุขชุมชน, การศึกษา และโครงการสำคัญอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงของตำรวจ และความไม่เสมอภาคทางเชื้อชาติ

...

ฝ่ายที่สนับสนุนเรื่องนี้อ้างว่า การตัดงบเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะการปฏิรูปการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้นล้มเหลว หลักฐานคือการเสียชีวิตของ นายจอร์จ ฟลอยด์ จากการทำเกินกว่าเหตุของตำรวจ ขณะที่สำนักงานสถิติสหรัฐฯ พบว่า การเสียชีวิตระหว่างการจับกุมของตำรวจระหว่างเดือนมิถุนายน 2558 ถึง มีนาคม 2559 มีถึง 1,348 ราย หรือเฉลี่ยเดือนละ 135 ราย มากกว่าในอังกฤษ หรือออสเตรเลีย ร่วม 10 เท่า

*สหรัฐฯ ใช้งบประมาณไปกับตำรวจเท่าไร?

ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายในกรมตำรวจของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า โดยในปีนี้อยู่ที่ 1.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.6 ล้านล้านบาท) ซึ่งเกือบทุกเมืองในสหรัฐฯ ใช้งบประมาณไปกับตำรวจมากกว่าบริการและหน่วยงานอื่นๆ มาก เช่น นครลอสแอนเจลิส ใช้งบฯ ไปกับตำรวจถึง 1.8 พันลานดอลลาร์ หรือมากกว่าครึ่งของงบประมาณทั้งหมดของเมือง

วิกฤติเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้แต่ละเมืองหรือรัฐ ดำเนินการตัดงบประมาณในด้านการศึกษา, โครงการสำหรับเยาวชน, ศิลปะและวัฒนธรรม, ที่อยู่อาศัย และอื่นๆ อีกมาก แต่กลับเพิ่มหรือไม่ตัดงบประมาณของตำรวจเลย จนกระทั่งถูกการประท้วงกดดัน

*หน่วยงานปกครองท้องถิ่นมีปฏิกิริยากับเรื่องนี้อย่างไร?

แทบจะในชั่วข้ามคืนหลังเกิดการประท้วง นายกเทศมนตรีหลายคน รวมทั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ต่างออกมาเปลี่ยนจุดยืนของตัวเองในเรื่องการจัดสรรงบประมาณของตำรวจ เช่น ผู้ว่าฯ นครลอสแอนเจลิส ระบุว่า จะตัดงบประมาณของตำรวจลง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แค่ 2 วันหลังเพิ่งผลักดันแผนงบประมาณที่เพิ่มงบฯ ตำรวจ 7%

สมาชิกสภาเมืองนิวยอร์กออกมาเรียกร้องให้มีการโยงงบประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออกจากสำนักงานตำรวจนิวยอร์ก ขณะที่ ส.ส.ประจำเมืองฟิลาเดลเฟีย, บัลติมอร์, กรุงวอชิงตัน ดี.ซี., ซานฟรานซิสโก และเมืองอื่นๆ ต่างออกมาสนับสนุนการตัดงบ หรือคัดค้านการเพิ่มงบประมาณของตำรวจ

ส่วนเมืองมินนิแอโพลิส สถานที่ที่จอร์จ ฟลอยด์ เสียชีวิต สมาชิกสภาเมืองออกมายืนยันว่า พวกเขากำลังพิจารณาเรื่องการยุบหน่วยตำรวจท้องถิ่นไปเลย แล้วจะนำงบประมาณไปใช้กับระบบโรงเรียนของรัฐ, พิพิธภัณฑ์ และสถาบันอื่นๆ แม้นายกเทศมนตรีจะไม่เห็นด้วยกับการยุบหน่วยตำรวจทั้งหมดก็ตาม

...

*สหภาพตำรวจในสหรัฐฯ ตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างไร?

สหภาพตำรวจต่างๆ ในสหรัฐฯ ต่อต้านการปฏิรูปหน่วยงานตำรวจมาอย่างยาวนาน อ้างว่าการตัดงบประมาณจะทำให้เมืองปลอดภัยน้อยลง เช่น การบุกปล้นสะดมในช่วงการประท้วงที่ผ่านมา พวกเขาก็มีกำลังไม่พอรับมือแล้ว ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ออกมาคัดค้านการตัดงบตำรวจเช่นกัน โดยระบุว่า ตำรวจที่ดีมีอยู่ถึง 99%

ด้านศาสตราจารย์ของสถาบันต่างๆ หลายคนออกมาแสดงความกังวล เช่น ศ.มาเรีย ฮาเบอร์ฟีลด์ จากวิทยาลัยความยุติธรรมทางอาญา ‘จอร์น เจย์’ ในนิวยอร์ก กล่าวว่า การตัดงบฯ หน่วยตำรวจอาจทำให้การฝึกเจ้าหน้าที่ด้อยประสิทธิภาพลง ซึ่งจะกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ไปด้วย

*การตัดงบตำรวจจะทำให้เกิดอาชญากรรมมากขึ้นหรือไม่?

ฝ่ายสนับสนุนการตัดงบตำรวจอ้างว่า การเหยียดผิวฝังรากลึกในกรมตำรวจและทัณฑสถานต่างๆ แล้ว ซึ่งเป็นโทษ และทำให้การชุมนุมปลอดภัยน้อยลง พวกเขาชี้ว่า งานส่วนใหญ่ของตำรวจไม่เกี่ยวข้องกับการตอบสนอง หรือการป้องกันความรุนแรง และตำรวจยังมีประวัติที่ไม่ดีมาอย่างยาวนานในเรื่องการแก้ปัญหาฆาตกรรม หรือรับมือคดีข่มขืนและการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

...

มีผลการศึกษาชี้ว่า การทำหน้าที่ของตำรวจน้อยลงทำให้อาชญากรรมลดลง โดยในปี 2557-2558 ตำรวจนิวยอร์กจัดการประท้วงนายกเทศมนตรีด้วยการลดการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อพิสูจน์ว่า ถ้ามีตำรวจทำงานน้อยเมืองก็จะปลอดภัยน้อยลงไปด้วย แต่ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม เมื่อพวกเขาหยุดปฏิบัติการเชิงรุกต่อผู้ทำผิดเล็กน้อย การแจ้งเหตุอาชญากรรมในช่วงดังกล่าวก็ลดลงถึง 2,100 ครั้ง

นักวิจัยระบุว่า การปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งกร้าวของตำรวจต่อผู้กระทำผิดเพียงเล็กน้อย อาจทำให้เกิดความไม่สงบในสังคม และทำให้เกิดอาชญากรรมมากขึ้น การลงโทษผู้ยากจน เช่น ออกใบสั่งปรับความผิดจราจรจำนวนมาก สามารถสร้างเงื่อนไขให้เกิดอาชญากรรมอื่นๆ ได้.