Credit : Jimmy Jeong

ในปัจจุบันจุลกายวิภาคศาสตร์เนื้อเยื่อ หรือฮิสโทโลจี (histology) นั้นเป็นมาตรฐานสำคัญสำหรับการปฏิบัติงานทางการแพทย์เพื่อตรวจสอบว่าเนื้องอกทั้งหมดถูกกำจัดในระหว่างผ่าตัดหรือไม่ เพราะอย่างที่รู้กันมานานว่า เนื้องอกหรือมะเร็งมีโอกาสกลับมาได้อีกครั้งในผู้ป่วยบางราย

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิศวกรของมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา ในแคนาดา นำโดยโรเจอร์ เซมฟ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชีวเวช ได้ปรับแต่งเทคนิคการถ่ายภาพแบบใหม่ที่เชื่อว่าจะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องถูกผ่าตัดซ้ำเพื่อกำจัดเนื้องอกมะเร็ง โดยใช้กล้อง จุลทรรศน์อัลตราไวโอเลต Ultraviolet Photo-acoustic Remote Sensing Microscopy (UV-PARS) ส่องมองและวิเคราะห์เนื้อเยื่อในเนื้องอกอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นว่าเนื้องอกทั้งหมดถูกกำจัดออกไปหรือไม่ หรือจำเป็นต้องถูกผ่าตัดซ้ำ

ทีมวิจัยเผยว่า เทคโนโลยี UV-PARS ให้ภาพเหมือนจุลกายวิภาคศาสตร์เนื้อเยื่อที่เปรียบเทียบ ได้กับข้อมูลการวินิจฉัยที่ได้รับก่อนหน้า ทำให้ไม่จำเป็นต้องตัดเนื้อเยื่อออกไปเพื่อการวิเคราะห์ ซึ่งเทคโนโลยีใหม่นี้เรียกได้ว่ามีความปลอดภัยสำหรับการใช้งานในร่างกายมนุษย์หรือสัตว์ที่มีชีวิต และอาจเหมาะสำหรับการใช้งานทางคลินิกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า.