บรรยากาศการชุมนุมเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการเนื่องในวันแรงงานสากลทั่วโลกปีนี้เป็นไปอย่างเงียบเหงา โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรปที่กำลังเผชิญการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก โดยเมื่อ 1 พ.ค. กลุ่มสหภาพแรงงานในหลายประเทศยุโรปแสดงพลังเนื่องในวันแรงงาน ในรูปแบบเลี่ยงการชุมนุมกลุ่มใหญ่และเน้นรักษาระยะห่างทางสังคม โดยที่ฝรั่งเศสใช้วิธีประท้วงเคาะหม้อและกระทะ บนระเบียงที่พักอาศัยและส่งสารรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนที่เยอรมนีจัดชุมนุมทางออนไลน์ และที่โปรตุเกสเข้าร่วมชุมนุมเฉพาะแกนนำใน 24 เมืองทั่วประเทศ
ขณะที่อิตาลีมีการเฉลิมฉลองจัดไลฟ์คอนเสิร์ตในกรุงโรม แต่ภายในงานจะมีแต่เฉพาะวงดนตรี ไม่อนุญาตให้ผู้คนเข้าร่วม ต้องรับชมผ่านทางออนไลน์ที่บ้านเท่านั้น ส่วนการชุมนุมที่กรุงเอเธนส์ของกรีซ กลุ่มผู้ประท้วงจากสหภาพแรงงานชุมนุมด้านนอกอาคารรัฐสภาในกรุงเอเธนส์ โดยยืนรักษาระยะห่าง พร้อมสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือป้องกัน แม้รัฐบาลสั่งห้ามชุมนุมเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสมรณะ
ด้านกลุ่มเคลื่อนไหวในตุรกี ปะทะกับตำรวจหลังแกนนำสหภาพแรงงานหลายคนถูกจับเพราะฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมที่จัตุรัสทักซิมในนครอิสตันบูล ขณะที่นายกรัฐมนตรีเมตเท เฟรเดอริคเซนของเดนมาร์ก ส่งสารวันแรงงานสากลผ่านออนไลน์ทางเฟซบุ๊กจากพิพิธภัณฑ์แรงงานในกรุงโคเปนเฮเกน
ส่วนที่ฮ่องกง เขตบริหารพิเศษของจีนที่เกิดประท้วงใหญ่มากว่า 7 เดือน กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย จัดชุมนุมแบบกลุ่มย่อยและสลายตัวภายในเวลาสั้น หรือแฟลชม็อบ (Flash mob) หลายจุดทั่วฮ่องกง เมื่อช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 1 พ.ค. แม้ทางการคงคำสั่งห้ามรวมตัวกันเกิน 4 คนในที่สาธารณะ ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะ โดยมีตำรวจปราบจลาจลคุมเข้มตามจุดล่อแหลมอยู่ก่อนแล้ว ไม่มีรายงานปะทะรุนแรง
พื้นที่อื่นๆในเอเชีย เกาหลีใต้ ผู้ประท้วงร่วมชุมนุมวันแรงงานสากลในกรุงโซล เรียกร้องสิทธิและสภาพการทำงานที่ดีขึ้นโดยต่างสวมหน้ากากอนามัยและชุดป้องกันไวรัสโควิด-19 อย่างมิดชิด ขณะที่ตำแหน่งงานนับล้านได้หดหายไปในกลุ่มประเทศอย่างบังกลาเทศ อินโดนีเซีย กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแหล่งโรงงานเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย หลังบริษัทแบรนด์แฟชั่นต่างยกเลิกหรือระงับคำสั่งซื้อหรือผลิต มูลค่ารวมนับพันล้านดอลลาร์.