ภาพจาก AFP
แนวปะการังถือเป็นแหล่งอาหารของโลก และยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทางทะเลหลายชนิด เมื่อน้ำทะเลอุ่นขึ้นเนื่องจากเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ได้ทำลายสุขภาพของแนวปะการังและส่งผลต่อบรรดาสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เปรียบเหมือนป่าใต้ทะเล แต่ปะการังก็มีกลไกการรับมือกับสภาวะโลกร้อน มีการวิจัยก่อนหน้านี้พบว่าแนวปะการังสามารถสร้างเมฆเพื่อลดความเข้มข้นของแสงอาทิตย์ลงได้
แนวปะการังเกรท แบร์ริเออร์ รีฟ ในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นระบบนิเวศแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบว่ามีการปล่อยก๊าซกลุ่มไดเมทิลซัลไฟล์ (Dimethyl sulphide-DMS) ช่วยในการก่อตัวของเมฆเมื่อก๊าซนี้ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ เมฆที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่ออุณหภูมิของน้ำบริเวณแนวปะการัง แต่แนวปะการังดังกล่าวเกิดการฟอกสีเพราะความเครียดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมหาสมุทร ทำให้พวกมันขับไล่สาหร่ายที่ให้สีสดใสแก่ตนเองไป
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น ครอสส์ ในออสเตรเลีย พยายามทดลองสร้างเมฆสดใสสำหรับกับแนวปะการังแห่งนี้ โดยทำให้น้ำเย็นขึ้นรอบๆแนวปะการัง และทำให้เมฆสะท้อนแสงอาทิตย์มากขึ้นจากการติดตั้งกังหันขนาดใหญ่หลายต้นที่จะช่วยพัดพาก๊าซที่ปะการังปล่อยออกมา ซึ่งหวังไว้ว่าอาจลดความเครียดการฟอกสีลงได้ประมาณ 70%.