ปี 2561 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศมาเลเซีย เมื่อพรรครัฐบาลซึ่งครองอำนาจมานานกว่า 60 ปี พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้แก่กลุ่มพันธมิตรการเมือง ‘ปาคาตัน ฮาราปัน’ จุดประกายความหวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ ที่รัฐบาลเต็มไปด้วยข่าวฉาวเรื่องการคอร์รัปชัน

แต่ไม่ถึง 2 ปีต่อมา รัฐบาลใหม่ภายในการนำของ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด กลับพังทลายลง และขั้วอำนาจเก่ากลับมาครองอำนาจอีกครั้ง มันเกิดอะไรขึ้นเหตุการณ์จึงกลับตาลปัตรเช่นนี้

นายนาจิบ ราซัค, นายอันวาร์ อิบราฮิม และ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด เคยอยู่พรรคอัมโนด้วยกันมาก่อน
นายนาจิบ ราซัค, นายอันวาร์ อิบราฮิม และ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด เคยอยู่พรรคอัมโนด้วยกันมาก่อน

*กำเนิดรัฐบาล ปาคาตัน ฮาราปัน

...

หากจะพูดถึงการล่มสลายของรัฐบาลของดร.มหาเธร์ ก็ต้องพูดถึงจุดกำเนินของมันก่อน โดย ‘ปาคาตัน ฮาราปัน’ (PH) หรือกลุ่ม ‘แนวร่วมแห่งความหวัง’ เกิดจากการจับมือพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและสายกลางในประเทศเมื่อปี 2559 มีแกนนำหลักคือ ดร.มหาเธร์ แห่งพรรคเบอร์ซาตู และนายอันวาร์ อิบราฮิม จากพรรคยุติธรรมประชาชน (PKR) ซึ่งเป็นศัตรูกันมาอย่างยาวนาน โดยทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันว่า หากชนะเลือกตั้ง ดร.มหาเธร์จะเป็นนายกฯ นาน 2 ปี ก่อนจะมอบตำแหน่งให้นายอันวาร์

แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ ปาคาตัน ฮาราปัน เอาชนะนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค จากกลุ่มการเมือง ‘บาริซาน นาซิอองนาล’ (BN) ที่มีพรรคอัมโน (UMNO) เป็นแแกนนำ ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 9 พ.ค. 2561 ได้สำเร็จ หลังจากนั้น นักการเมืองจากพรรคอัมโนหลายคนก็ถูกสอบสวนคดีคอร์รัปชันต่างๆ ขณะที่รัฐบาลสัญญาจะยกเลิกกฎหมายกดขี่ประชาชน ซึ่งจะหมายถึงยุคใหม่ของมาเลเซีย

นายอันวาร์ อิบราฮิม และดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด
นายอันวาร์ อิบราฮิม และดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด

*กลิ่นตุๆ หรือมหาเธร์จะผิดสัญญา?

ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว ใกล้จะถึงเวลาที่ดร.มหาเธร์ต้องส่งมอบตำแหน่งนายกฯ ให้นายอันวาร์ตามสัญญา ในวันที่ 21 ก.พ. สภาปาคาตัน ฮาราปัน จัดประชุมเพื่อหารือเรื่องการส่งมอบอำนาจ ที่เชื่อว่าจะมีการกำหนดวันเวลาที่แน่ชัดออกมา แต่ปรากฏว่า ผลการประชุมคือดร.มหาเธร์จะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะยกตำแหน่งให้นายอันวาร์วันไหน ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าจะเกิดขึ้นหลังการประชุมเอเปคในเดือนพฤศจิกายน

แต่ในวันที่ 23 ก.พ. แกนนำพรรคเบอร์ซาตูหลายคน รวมทั้ง สมาชิกรัฐสภาจากพรรค PKR นำโดยนาย อัซมิน อาลี ที่ตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและเพิ่งมีปัญหากับนายอันวาร์ กับแกนนำพรรคอัมโน และพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (PAS) หลายคน ร่วมประชุมกันที่โรงแรม เชอราตัน ในรัฐสลังงอร์

เรื่องนี้ทำให้เกิดข่าวลือว่าอาจจะมีความพยายามจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรกลุ่มใหม่ และดร.มหาเธร์กับพรรคเบอร์ซาตูกำลังตลบหลังกลุ่ม ปาคาตัน ฮาราปัน เพื่อที่จะไม่ต้องส่งมอบตำแหน่งให้นายอันวาร์และอยู่ในอำนาจต่อไป โดยร่วมมือกับขั้วอำนาจเก่าอย่างพรรคอัมโน ทั้งที่สมาชิกพรรคหลายคนกำลังถูกดำเนินคดีข้อหาคอร์รัปชัน แต่วันต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้รู้ว่า ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

...

*มหาเธร์ลาออกจากตำแหน่ง

แถลงการณ์ตามกำหนดการณ์ในวันอาทิตย์ที่ 23 ก.พ. ถูกยกเลิก ทำให้ชาวมาเลเซียไม่รู้เลยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลและการเมืองของพวกเขา แต่ในวันที่ 24 ก.พ. กลับมีรายงานว่า ดร.มหาเธร์ไม่ได้สนับสนุนการตลบหลังกลุ่ม ปาคาตัน ฮาราปัน และไม่เห็นด้วยกับแผนรวมมือกับพรรคอัมโนด้วย หลักฐานคือ ดร.มหาเธร์ยืนหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถึงสมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่าน อับดุลลาห์ รีอายาตุดดิน อัล-มุสตาฟา บิลลาห์ ชาห์

ดร.มหาเธร์ไม่ได้เผยสาเหตุที่เขาลาออก แต่ทั้งนายอันวาร์ที่ควรจะเป็นอริกัน กับนาย ลิ้ม กวน เอ็ง จากพรรคกิจประชาธิปไตยมาเลเซีย (DAP) ยืนยันว่าการกระทำของดร.มหาเธร์คือการแสดงความต่อต้านพรรคอัมโน หลังจากนั้นไม่นาน ดร.มหาเธร์ ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคเบอร์ซาตู ก่อนที่สมเด็จพระราชาธิบดีจะแต่งตั้งเขาเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี

นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน
นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน

...

*ดราม่าการเมืองกลับตาลปัตร

ด้วยการที่ดร.มหาเธร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี สถานการณ์ดูเหมือนจะกลับเข้าสู่ความสงบ แต่เกมการเมืองย่อมไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร นักการเมืองและพรรคต่างๆ ดูเหมือนจะพยายามหาตำแหน่งที่ถูกที่ควรที่สุด ณ จุดหนึ่ง ทุกคนสนับสนุนดร.มหาเธร์ให้กลับเป็นนายกรัฐมนตรีตามเดิม แต่จู่ๆ พวกเขาก็เปลี่ยนใจ สมาชิก ปาคาตัน ฮาราปัน จำนวนหนึ่งเสนอชื่อนายอันวาร์เป็นนายกฯ ขณะที่พรรคอัมโนและ PAS เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่

มหาเธร์ถึงกับเสนอให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ที่ประกอบด้วยสมาชิกจากพรรคการเมืองทุกพรรค ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในมาเลเซีย และแน่นอนว่า ความคิดเรื่องนี้ก็อยู่ได้ไม่นานเช่นกัน ขณะที่สมเด็จพระราชาธิบดีเรียกตัวสมาชิกสภาทั้ง 222 คนเข้าเฝ้าตลอดระยะเวลา 2 วัน เพื่อหาว่า ใครที่ได้รับการสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด

ในช่วงเวลานั้น สถานการณ์ก็พลิกผันอีกครั้งเมื่อส.ส.จากพรรคเบอร์ซาตู 36 คน รวมทั้ง 10 คนที่ย้ายมาจากพรรค PKR เสนอชื่อนาย มูห์ยิดดิน ยัสซิน เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้เบอร์ซาตูแตกแยกเป็นฝ่ายมหาเธร์และฝ่ายนายมูห์ยิดดิน ผู้ซึ่งถูกอัปเปหิออกจากพรรคอัมโน และเป็นผู้ช่วยดร.มหาเธร์ก่อตั้งพรรคเบอร์ซาตูขึ้นมา รวมกับอดีตสมาชิกพรรคอัมโนคนอื่นๆ

นายมูห์ยิดดิน ลงนามเอกสารในการปฏิบัติหน้าที่วันแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี
นายมูห์ยิดดิน ลงนามเอกสารในการปฏิบัติหน้าที่วันแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี

...

*ผลตัดสินศึกชิงเก้าอี้นายกฯ

การที่นายมูห์ยิดดินนั่งเก้าอี้นายกฯ หมายความรัฐบาลของเขาจะประกอบด้วยพรรคอัมโน กับ PAS เท่านั้น ทำให้กลุ่มปาคาตัน ฮาราปัน และนายอันวาร์ หันมาร่วมกันดันดร.มหาเธร์เป็นนายกรัฐมนตรีเต็มที่ และมีแนวโน้มว่า นักการเมืองมากประสบการณ์วัย 94 ปีผู้นี้จะกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งด้วย เพราะเสียงสนับสนุนในสภาของเขาน่าจะสูงกว่าของนายมูห์ยิดดิน

แต่สำนักพระราชวังมาเลเซียกลับทิ้งระเบิดลูกใหญ่ลงมาในวันที่ 29 ก.พ. โดยสมเด็จพระราชาธิบดีตัดสินพระทัยแต่งตั้งนายมูห์ยิดดิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สร้างความตกตะลึงให้กับทุกฝ่าย และกำหนดให้จัดพิธีสาบานตนในเวลา 10.30 น. วันที่ 1 มี.ค. ซึ่งระหว่างนั้นมหาเธร์และปาคาตัน ฮาราปัน พยายามยืนยันว่า ฝ่ายพวกเขามีคะแนนเสียงในสภา 114 เสียง หมายความว่ามหาเธร์ต่างหาที่ครองเสียงข้างมากในสภา แต่ก็ไม่เป็นผล สมเด็จพระราชาธิบดีทรงปฏิเสธการขอเข้าเฝ้าของ ดร.มหาเธร์ และไม่เปลี่ยนพระทัยใด

ในช่วงเช้าวันที่ 1 มี.ค. ก่อนพิธีสาบานตนของนายมูห์ยิดดินจะเริ่มต้นขึ้น ดร.มหาเธร์ออกแถลงการณ์ประณามอดีตเพื่อนร่วมพรรคว่าเป็นคนทรยศ และอ้างว่านายมูห์ยิดดินไม่ใช่นายกรัฐมนตรีโดยชอบธรรม อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่สามารถยุดยั้งพิธีสาบานตนได้ และในเวลา 10.30 น. นายมูห์ยิดดินก็กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

ไม่ถึง 2 ปีหลังจากพรรคอัมโนพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งจากข้อหาคอร์รัปชันขนานใหญ่ ในที่สุดพวกเขาก็ได้กลับมาครองอำนาจอีกครั้ง และนี่เป็นครั้งแรกที่พรรคอนุรักษ์นิยมอย่าง PAS ได้สัมผัสอำนาจของรัฐบาลกลางด้วย

ผู้ชุมนุมออกมาประท้วงการขึ้นเป็นนายกฯ ของนายมูห์ยิดดิน
ผู้ชุมนุมออกมาประท้วงการขึ้นเป็นนายกฯ ของนายมูห์ยิดดิน