มาเลเซียมีวิกฤติการเมืองเรื่องของความชอบธรรมของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน ประชาชนคนมาเลเซียให้สัญญาณผ่านการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พ.ศ.2561 ว่า พวกตนไม่เอาพรรคการเมืองเดิมที่ปกครองประเทศมายาวนานแล้ว เพราะมีปัญหาหลายอย่างที่รับกันไม่ได้อย่างมากก็คือปัญหากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ 1 MDB

เมื่อไม่พอใจพรรคการเมืองที่ปกครองประเทศเดิม จึงเกิดรัฐบาลผสมปากาตัน ฮาราปัน หรือพันธมิตรแห่งความหวังตัวละครหลักที่ประชาชนฝากผีฝากไข้ในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2561 ก็คือ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด และนายอันวาร์ อิบราฮีม โดยให้ ดร.มหาเธร์เป็นนายกฯก่อน และให้อันวาร์เป็นนายกฯต่อ

อันวาร์เคยเป็นนักการเมืองดาวรุ่งพุ่งแรงตั้งแต่เริ่มเล่นการเมือง แต่มาอับเฉาขนาดต้องเข้าคุก เพราะคดีมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันซึ่งผิดกฎหมายในมาเลเซีย ความที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงมาก่อน อันวาร์จึงมีโจทก์เยอะ มีคนไม่ชอบจำนวนหนึ่ง เมื่อถึงวาระที่อันวาร์จะได้เป็นนายกฯ คนที่ไม่ชอบจึงชุมนุมสุมศีรษะกีดกัน คนที่กระดิกพลิกตัวกันอันวาร์แรงที่สุดก็คือรัฐมนตรีมหาดไทยนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน ประธานพรรคเบอร์ซาตูของ ดร.มหาเธร์เอง และนายอัสมิน อาลี รัฐมนตรีเศรษฐกิจ

มีการวางแผนให้รัฐบาลล่มโดยให้ ส.ส.พรรคความยุติธรรมฯ ถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาล 11 คน นอกจากนั้น ยังมีคนไปยุแยงพรรคร่วมรัฐบาลเล็กๆให้ถอนตัว ส.ส.พวกนี้รวมตัวกันได้ 37 คน

ส.ส.หายไป 37 คน นาวารัฐบาลก็โคลงเคลง ทำให้ ดร.มหาเธร์ประกาศลาออก นักการเมืองทั้ง 37 คนไปจับมือกับ ส.ส.อัมโนที่เป็นฝ่ายค้าน 57 เสียง โดยมีพรรคเล็กอื่นกระโดดเข้ามาเกาะด้วย

...

ตามรัฐธรรมนูญ ใครจะเป็นนายกฯมาเลเซียต้องมีเสียง ส.ส.ในสภามากกว่ากึ่งหนึ่งคือ 112 เสียง แต่แทนที่สมเด็จพระราชาธิบดีของมาเลเซีย สุลต่านอับดุลเลาะห์จะทรงเปิดให้โหวต ยกมือให้เห็นกันอย่างถนัดชัดเจนว่าใครหนุนใครยังไง พระองค์กลับทรงเรียก ส.ส.เข้าไปสอบถามทีละคนว่าท่านจะหนุนใครเป็นนายกฯ ปรากฏว่าไม่มีใครได้คะแนนมากถึง 112 เสียง

ดร.มหาเธร์แนะนำให้พระองค์แต่งตั้งตัวแกเองเป็นนายกฯ “ข้าพเจ้าจะตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เอาผู้คนจากทุกพรรคมาเป็นรัฐมนตรี” สมเด็จพระราชาธิบดีทรงไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้เพราะผิดรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญมาเลเซียให้เอาคนที่มี ส.ส.สนับสนุนอย่างน้อย 112 คนไปเป็นนายกฯเท่านั้น

ดร.มหาเธร์จึงแนะนำใหม่ให้สมเด็จพระราชาธิบดีเปิดสภาโหวตในวันจันทร์ที่ 2 มีนาคม 2563 ถ้าสภาโหวตแล้วยังไม่ได้นายกฯ ก็ให้ประกาศยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งเพื่อตัดสินว่าจะเอาใครเป็นนายกฯ ซึ่งเป็นตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ

ทว่าไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นยังไง อย่างไร คนเขียนเองก็งง คนมาเลเซียจำนวนไม่น้อยก็น่าจะงงเหมือนกัน เมื่อวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักพระราชวังฯ แถลงว่าจะไม่เปิดสภาให้ ส.ส.โหวต แถมยังทรงแต่งตั้งนายยัสซินเป็นนายกฯ โดยให้เข้าพิธีสาบานตนในวันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม 2563

ผู้คนชนมาเลเซียเคลือบแคลงว่า อ้า ทำไมไม่ทรงเปิดสภา ให้มีการโหวตให้รู้ชัดเจนไปเลยว่าใครมีคะแนนเท่าใด ถ้าไม่มีใคร ได้ ส.ส.หนุนเพียงพอจะได้จัดเลือกตั้งใหม่ สำนักพระราชวังอ้างว่านายยัสซินมี ส.ส.เกิน 112 เสียง โดยมีเสียงจากอัมโน 37 เสียงมาร่วมด้วย

เรื่อง 37 เสียงจากอัมโนนี่ก็เป็นปัญหาใหญ่โตมโหฬารแล้ว ก็การเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2561 ประชาชนตัดสินแล้วว่า ไม่เอาอัมโนมาบริหารประเทศอีก เพราะการทุจริตคอร์รัปชัน

หลายคนถามว่า นี่คือการรวมหัวกันปล้นสิทธิของประชาชน โดยมีสำนักพระราชวังช่วยเหลือหรือเปล่า สำนักพระราชวังหรือประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่า ใครจะได้เป็นผู้นำในการบริหารประเทศกันแน่

คนมาเลเซียเชื้อสายจีนและอินเดียปฏิเสธนายยัสซินแรงมาก เพราะทั้งการพูดจาและการปฏิบัติขัดหลักพหุวัฒนธรรม นายยัสซินเป็นพวกชาตินิยมมาลายูแรง แกประกาศถนัดชัดเจนว่า ผมเป็นมลายู การเป็นชาวมาเลเซียนั้นเป็นเรื่องรอง

มาเลเซียไม่ใช้หลักนิติธรรมปกครองประเทศเหมือนเดิมแล้วหรือ?

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com