การใช้ดนตรีเป็นที่นิยมมากขึ้นในทางการแพทย์ของมนุษย์ มีหลายงานวิจัยชี้ถึงประโยชน์มากมายของการใช้เสียงดนตรี ที่ช่วยปรับปรุงกลไกการทำงานของสมองในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยลดความวิตกกังวลกับการตรวจวินิจฉัยโรค ดนตรียังนำไปใช้กับสัตว์อื่นๆ ด้วยเช่น แมว มีงานวิจัยก่อนหน้านี้ลงในวารสาร Journal of Feline Medicine and Surgery (JFMS) ระบุว่าแมวที่สลบไสลจากถูกดมยาสลบ ยังคงตอบสนองทางสรีรวิทยาต่อเสียงเพลง และดูเหมือนว่าการฟังดนตรีคลาสสิกแมวจะผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อเทียบกับดนตรีป๊อปและเฮฟวีเมทัล
ในการศึกษาล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐหลุยเซียนา ในสหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของดนตรีที่แตกต่างประเภทกัน และสำรวจพฤติกรรมของแมวเมื่อให้ฟังเพลงที่แต่งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อแมวโดยเฉพาะ อย่างเพลง “Scooter Bere’s Aria” ของเดวิด ทาย และเพลงคลาสสิก “Élégie” ของกาเบรียล ฟัวเร่ งานนี้มีอาสาสมัครแมว 20 ตัวเข้าทดสอบฟังเพลงเป็นเวลา 20 นาทีและอยู่อย่างเงียบๆ จากนั้นก็สุ่มตรวจร่างกายแต่ละครั้งห่างกัน 2 สัปดาห์ ซึ่งคะแนนความเครียดของแมวตามพฤติกรรม ท่าทาง ร่างกายของแมวจะถูกบันทึกวิดีโอ รวมถึงถูกประเมินค่าอัตราส่วนของเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลต่อเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ในกระแสเลือด (neutrophil : lymphocyte ratio) เพื่อค้นหาการตอบสนองความเครียดทางสรีรวิทยา
การศึกษาพบว่าแมวดูจะเครียดน้อยลงในระหว่างการตรวจเมื่อเล่นเพลงที่แต่งมาเพื่อแมว โดยเทียบกับดนตรีคลาสสิกและให้อยู่กับความเงียบไม่เปิดเพลง อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้นั้นไม่ได้สะท้อนออกมาในการประเมินค่าอัตราส่วนของเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลต่อเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ในกระแสเลือด นักวิจัยมองว่า 20 นาทีอาจยังไม่นานพอที่ให้คำตอบว่าดนตรีส่งผลต่อเจ้าเหมียวได้อย่างไร.
...