เชื่อว่ามีน้อยคนบนโลกนี้ ที่อยากจะระเห็จออกจากภูมิลำเนาแผ่นดินเกิด แต่ที่ต้องทำเพราะสถานการณ์บีบบังคับให้จำใจ
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา คงได้เห็นข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาในประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ลี้ภัยเวเนซุเอลาในอเมริกาใต้ และผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลาง-แอฟริกาหลบหนีไปยุโรป แน่นอนว่าเหตุเหล่านี้ ได้ดึงความสนใจไปหมด จนอาจลืมเลือนไปว่ามีปัญหาค้างคาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในภูมิภาคอื่นด้วยเช่นกัน
เหมือนอย่าง “อัฟกานิสถาน” ในเอเชีย-กลาง ที่คนทั่วโลกฝังหัวไปแล้วว่า เป็นประเทศที่ตกอยู่ในภาวะสงครามตลอดชั่วนาตาปี ตั้งแต่ 40 ปีก่อนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าการรุกรานของสหภาพโซเวียต การถือกำเนิดของกองกำลังติดอาวุธตาลีบัน และการบุกโจมตีของกองทัพสหรัฐอเมริกา
บังเกิดเป็นความชาชินกับสิ่งที่เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้ ทั้งที่ศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน โดยตัวเลขล่าสุดมีชาวอัฟกันหนีภัยอยู่นอกประเทศกว่า 4.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เพียง 2.7 ล้านคนได้รับการลงทะเบียนผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ และกว่าครึ่งเป็นเด็กอายุ
ต่ำกว่า 14 ปี
จากข้อมูลสำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ ระบุว่าผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันกระจัดกระจายอยู่ในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก แต่ร้อยละ 90 อาศัยอยู่ในปากีสถานและอิหร่านเป็นหลัก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ งบประมาณจากที่ต่างๆเพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือชาวอัฟกันกลับลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์
ถึงกระนั้น รัฐบาลปากีสถานก็ได้พยายามให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง สนับสนุนการศึกษา สุขภาพความเป็นอยู่ เช่นเดียวกับอิหร่านที่ให้โอกาสศึกษาในโรงเรียนถึงจะไม่มีเอกสาร ถือเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่น่าชื่นชม ท่ามกลางความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญ โดยเฉพาะอิหร่านที่ถูกสหรัฐฯคว่ำบาตรอย่างรุนแรง
...
ปัญหาผู้ลี้ภัยที่มักถูกหลงลืมอีกพื้นที่ คือทวีปแอฟริกา โดยเมื่อปลายเดือน ม.ค. ผู้อพยพหนีความรุนแรงในรัฐดาร์ฟูร์ ทางตะวันตกของ “ซูดาน” ต่างหลั่งไหลเข้าไปในชาด หลายครอบครัวพลัดพรากจากกัน และมีเด็กจำนวนมากต้องลี้ภัยมาเพียงลำพัง ซึ่งยอดรวมประเมินแล้วอาจมากกว่า 30,000 คน
เจ้าหน้าที่สหประชาชาติเผย ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ต้องนอนกลางดินกินกลางทรายในพื้นที่พรมแดน และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน แต่ประเมินแล้วขาดงบประมาณราว 300 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง...หากใครสนใจบริจาคช่วยเหลือส่วนไหน เข้าไปดูขั้นตอนได้ที่ www.unhcr.or.th ครับ.
ตุ๊ ปากเกร็ด