ขอขอบคุณสื่อต่างประเทศหลายสำนักที่เข้าใจเหตุการณ์ความรุนแรงที่ห้างสรรพสินค้าในจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเกิดขึ้นช่วงวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2563 เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ อียิปต์ ฯลฯ และเป็นการกระทำของคนเพียงคนเดียว ไม่ใช่ความไม่ปลอดภัยในเชิงการก่อการร้าย
ผมรับใช้ค้างไว้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับเบลารุส และรัสเซียกับเบลารุส ซึ่งเคยเป็นประเทศเดียวกันมาก่อน และเพิ่งแยกเป็นคนละประเทศกันเมื่อไม่ถึง 30 ปีมานี้เอง ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับเบลารุสเป็นเหมือนพี่กับน้อง โดยพี่ใหญ่รัสเซียคอยช่วยเหลือโอบอุ้มน้องเล็กเบลารุสมาโดยตลอด ทว่าระยะหลัง เหมือนรัสเซียจะรู้ระแคะระคายว่าประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก เริ่มมีใจไม่ค่อยตรงหน่อยๆ รัสเซียจึงใช้มาตรการเดียวกับที่เคยใช้บีบอูเครนและจอร์เจียในอดีต คือมาตรการราคาก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน
ขณะที่กำลังเจรจาเพื่อขอความเมตตากรุณาอนุเคราะห์กับรัสเซียอยู่นั้น นายลูคาเชนโกก็เริ่มนำเข้าพลังงานบางส่วนจากนอร์เวย์ โดยเนื้อแท้ เบลารุสไม่มีอะไรที่สหรัฐฯสนใจเลย ทรัพยากรก็ไม่มี ประเทศเล็ก ประชากรน้อย แต่สิ่งที่ทำให้สหรัฐฯสนใจเบลารุสก็คือความที่เบลารุสมีพรมแดนประชิดติดกับรัสเซีย ทรัมป์จึงส่งนายปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศไปพบประธานาธิบดีลูคาเชนโก พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาว่า สหรัฐฯยินดีสนับสนุนด้านพลังงานทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติให้เบลารุส 100% ในราคาที่เหมาะสม
เพื่อไม่ให้ดูน่าเกลียด สหรัฐฯใช้คำว่า “ในราคาที่เหมาะสม” ไว้ก่อน แต่เมื่อถึงคราวปฏิบัติจริงก็คงจะมีช่วยโน่นแถมนี่เพื่อผูกไมตรีกับเบลารุส ซึ่งสหรัฐฯประสบความสำเร็จจากการใช้เทคนิคนี้กับอูเครนและจอร์เจียมาก่อน
...
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯมาหานายลูคาเชนโกที่กรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2563 หลังจากนั้น ผมว่านายลูคาเชนโกก็น่าจะร้อนตัว ถึงขนาดต้องรีบไปหาประธานาธิบดีปูตินที่เมืองโซชิ เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2563 โดยบอกว่าไปกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระดับทวิภาคีระหว่างเบลารุสกับรัสเซีย อยากสนทนาสถานการณ์โดยทั่วไปของกลุ่มสาธารณรัฐของอดีตสหภาพโซเวียต รวมทั้งอยากไปเล่นฮอกกี้น้ำแข็งกับปูติน
ช่วงนี้เป็นช่วงที่ยากลำบากของลูคาเชนโก เพราะกับปูตินและรัสเซียก็สนิทสนมกันมายาวนาน แต่ช่วงหลังรัสเซียไม่หนุนเบลารุสอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูเหมือนเก่า ครั้นจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์หันไปคบกับสหรัฐฯและโลกตะวันตกก็อาจจะมีปัญหาระหองระแหง แนงโนงกับรัสเซียเหมือนจอร์เจียและอูเครน ซึ่งพอมีปัญหากับรัสเซียจริงๆ สหรัฐฯกับตะวันตกก็ไม่ได้เข้ามาช่วยอย่างที่ควรจะช่วย ปล่อยให้ประเทศเล็กชาติน้อยที่ตีตัวออกห่างจากรัสเซียออกมาสู้ตามลำพัง
นโยบายความสัมพันธ์ของประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกน่าสนใจมากครับ เพราะจะไปเชื่อมกับความพยายามของสหรัฐฯและตะวันตกบางประเทศที่จะไปฉุดการเติบโตของจีน ซึ่งรัสเซียกับจีนเป็นเพียง 2 ประเทศบนโลกใบนี้ที่มีศักยภาพในการเล่นเอาล่อเอาเถิดกับสหรัฐฯ และยุทธศาสตร์ของรัสเซียกับจีนก็มีแนวโน้มจับมือกันแน่นแฟ้นเพื่อจะต่อต้านอิทธิพลสหรัฐฯ
เป็นประเทศเล็กชาติน้อยนี่วางตัวลำบาก โดยเฉพาะชาติเล็กชาติที่มีพรมแดนติดกับมหาอำนาจ ผู้นำประเทศชาติเล็กเหล่านี้จำเป็นต้องมีอภิพญามหาสมองที่จะทันต่อการเล่นเกมของมหาอำนาจชาติใหญ่ที่ไม่กล้ารบกันซึ่งหน้าจริงๆสักที มีแต่รบกันผ่านตัวแทน เอาประเทศเล็กๆนี่แหละเป็นตัวแทน
เดิมผมไม่ค่อยสนใจความเป็นไปของเบลารุส แต่ต่อไปนี้ไม่สนใจไม่ได้แล้วครับ ผมเองกระหายใคร่รู้ว่าลูคาเชนโกจะแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์กับรัสเซียยังไง และทรัมป์จะประสบความสำเร็จในการเอาเบลารุสเข้าคอกของสหรัฐฯได้หรือไม่?
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย