Credit : Tom Brougham

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ทอม โบรแฮม จากศูนย์วิจัยบรรพชีวินวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ ในออสเตรเลีย เผยการศึกษาหลักฐานของไดโนเสาร์ชนิดหนึ่งถูกพบที่เหมืองโอปอลใกล้กับเมืองไลท์นิ่ง ริดจ์ โดยทำการเปรียบเทียบกระดูกคอของไดโนเสาร์ตัวนี้ที่มีอายุ 100 ล้านปีกับกระดูกไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดอื่นๆ และได้คำตอบอย่างรวดเร็วว่า ไดโนเสาร์ที่พบในไลท์นิ่ง ริดจ์ แตกต่างจากชนิดที่พบในออสเตรเลียโดยทั่วไป

นักวิจัยคนดังกล่าวเผยว่าคุณสมบัติของกระดูกเมื่อเปรียบเทียบกับไดโนเสาร์กลุ่มเธอโรพอด (Theropods) อื่นๆ ก็พบว่ามันจับคู่อย่างใกล้ชิดกับไดโนเสาร์กลุ่มประหลาดที่เรียกว่า โนอาซอริดี (Noasaurids) ซึ่งเป็นเธอโรพอดที่หายาก พวกมันเป็นชนิดกินเนื้อ เดินด้วย 2 ขา อาศัยอยู่ในช่วงกลางยุคจนถึงปลายยุคครีเตเชียสเมื่อ 120-66 ล้านปีก่อน รูปร่างเหมือนไดโนเสาร์ตัวเล็กๆ ใบหน้าดูแปลกประหลาด โดยทั่วไปแล้วความยาวของร่างกายจะน้อยกว่า 2 เมตร หนักราว 20 กิโลกรัม สันนิษฐานว่าโนอาซอริดีต้องอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย เนื่องจากพบฟอสซิลของพวกมันในดินแดนอื่นๆ ทางใต้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของมหาทวีปกอนด์วานา (Gondwana) เช่นเดียวกับออสเตรเลีย

การยอมรับไดโนเสาร์กลุ่มใหม่นี้ จึงเติมส่วนที่ขาดหายไปให้กับช่องว่างการศึกษาและนักวิจัยยังย้อนไปตรวจสอบกระดูกข้อเท้าไดโนเสาร์ที่ค้นพบในรัฐวิกตอเรียเมื่อปีพ.ศ.2555 มีอายุมากกว่ากระดูกที่พบในไลท์นิ่ง ริดจ์ 20 ล้านปี ซึ่งสรุปได้ว่าพวกมันเป็นโนอาซอริดีเหมือนกัน อีกทั้งกระดูกข้อเท้านี้ยังมีอายุใกล้เคียงหรือมากกว่าโนอาซอริดีที่พบในอเมริกาใต้และปัจจุบันครองตำแหน่งเก่าแก่ที่สุดของไดโนเสาร์กลุ่มนี้.