(ภาพ)สู้ไวรัสปิศาจ–ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งจีน (ขวา) หารือเรื่องการรับมือกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือไวรัสอู่ฮั่น กับนาย เทดรอส อดานอม เกเบราเยซุส ผอ.องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง โดยสี จิ้นผิง ชี้ว่า จีนกำลังต่อสู้กับ “ไวรัสปิศาจ” และมั่นใจว่าจะพิชิตมันได้ (เอพี)
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ “ไวรัสอู่ฮั่น” ซึ่งมีต้นตอจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ภาคกลางของจีน และกำลังลามไปหลายประเทศทั่วโลกอย่างน่ากลัว ทำให้รัฐบาลจีนต้องงัดมาตรการทุกอย่าง รวมทั้งทุ่มงบประมาณมหาศาลถึง 60,330 ล้านหยวน (ราว270,000 ล้านบาท) เข้าต่อสู้
จีนยังสั่งปิดเมืองอู่ฮั่นและเมืองอื่นๆในมณฑลหูเป่ยรวม 18 เมืองในระดับเข้มข้นแตกต่างกันไปเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อผู้คนกว่า 56 ล้านคน อีกทั้งเร่งสร้างโรงพยาบาลฉุกเฉิน 2 แห่งในเมืองอู่ฮั่น ขนาด 1,000 และ 1,300 เตียง ให้เสร็จภายใน 6 วัน และครึ่งเดือนเพื่อรองรับผู้ป่วย โดยเฉพาะเมืองอู่ฮั่นซึ่งมีประชากรถึง 11 ล้านคน ถูกปิดตายเกือบสิ้นเชิง ทั้งทางบก ทางน้ำ และอากาศ ห้ามผู้คนเข้าออกเด็ดขาด
มาตรการปิดเมืองเช่นนี้มีศัพท์เฉพาะว่า “การกักกันและการตีวงกั้นเพื่อกักโรคระบาด” (Quarantine and Cordon Sanitaire) ซึ่งใช้มาตั้งแต่ยุคโบราณ และมีการพัฒนาใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีใหม่ๆ ตามยุคสมัย
มาตรการดังกล่าวถูกนำมาใช้แล้วหลายครั้งตั้งแต่ยุคกลาง รวมทั้งสมัย “โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง” (ซาร์ส) ระบาดจากภาคใต้จีนไปยังกว่า 30 ประเทศทั่วโลกช่วงปี 2545-2546 มีผู้เสียชีวิตเกือบ 800 คน และยุคไวรัส “อีโบลา” แพร่ระบาดในแอฟริกาตะวันตกช่วงปี 2556-2559 ซึ่งมีการปิดพรมแดนหลายประเทศและใช้มาตรการกักโรค ทั้งกับคน สัตว์ และบนเรือ
...
ในครั้งนั้น ประชาชนกว่า 6 ล้านคนในเซียร์ราลีโอน หนึ่งในสามประเทศที่ไวรัสอีโบลาระบาดหนักที่สุด ถูกห้ามออกนอกบ้าน เด็ดขาดนาน 3 วันถึง 2 รอบในเดือน ก.ย.2557 และเดือน มี.ค.2558 มาตรการนี้ยังถูกนำมาใช้เมื่อครั้ง “กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง” (Bubonic Plague) ระบาดที่นครมุมไบในอินเดียในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน
คำ “Quarantine and Cordon Sanitaire” มาจากศัพท์ 2 คำที่มีความหมายต่างกันแต่มักใช้ร่วมกัน โดยในพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด คำ “Quarantine” หมายถึงสภาวะ ช่วงเวลา และสถานที่แยกกักคนหรือสัตว์ที่มาจากที่อื่นที่สงสัยว่าสัมผัสกับเชื้อโรคหรือผู้ป่วย จนกว่าจะพ้นระยะการฟักตัวของโรค ส่วน “Cordon Sanitaire” หมายถึงการตีวงกั้นและเฝ้าสอดส่องจุดเข้าออกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ดังที่ใช้ที่เมืองอู่ฮั่น
“Quarantine” มาจากศัพท์ท้องถิ่นชาวเวเนเชียนในอิตาลี คำว่า “Quaranta Giorni” แปลว่า “40 วัน” หมายถึงช่วงเวลาแยกกักคนหรือสัตว์นาน 40 วันในช่วงการแพร่ระบาดของกาฬโรคในศตวรรษที่ 14 และ 15 โดยมาตรการ Quarantine ถูกบันทึกไว้ครั้งแรกเมื่อเรือจากเมืองดูบรอฟนิกในโครเอเชียถูกกักไว้ที่นอกชายฝั่งอิตาลีใน ค.ศ.1377 เพื่อเฝ้าดูอาการของผู้ติดเชื้อโรคติดต่อบนเรือ ก่อนอนุญาตให้เทียบท่า ส่วน ค.ศ.1423 ก็มีการกักเรือไว้ที่นอกชายฝั่งเมืองเวนิส และมาตรการ Quarantine ยังถูกใช้ในยุโรปเป็นประจำในช่วงอหิวาตกโรคระบาดในทศวรรษ 1830
ส่วน “Cordon Sanitaire” มาจากศัพท์ภาษาฝรั่งเศส ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในศตวรรษที่ 19 เมื่อครั้งฝรั่งเศสส่งทหาร 30,000 นาย ไปปิดกั้นพรมแดนติดกับสเปนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ “ไข้เหลือง” แต่จริงๆแล้วมาตรการนี้ถูกใช้มาก่อนการแพร่ระบาดของกาฬโรคครั้งใหญ่ โดยมีการสร้าง “กำแพงอิฐกั้นกาฬโรค” ยาว 27 กม. ในภูเขาวอคลูสทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ฝรั่งเศสใน ค.ศ.1721 เพื่อยับยั้งกาฬโรคที่แพร่ระบาดในภูมิภาคใกล้เคียง
ส่วนที่อังกฤษ หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ “อีแยม” ก็ใช้มาตรการ “Cordon Sanitaire” แบบสมัครใจและน่ายกย่องใน ค.ศ.1665 เพื่อป้องกันไม่ให้กาฬโรคที่แพร่ระบาดในหมู่บ้านนี้ลามไปยังภูมิภาคอื่นๆ
ทอม โซโลมอน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่แห่งมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลในอังกฤษเตือนว่า แม้การปิดเมืองจำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชนสุดเข้มงวดอาจช่วยควบคุมโรค ระบาดได้ แต่มันก็มี “ผลข้างเคียง” ด้านลบได้เช่นกัน รวมทั้งทำให้ผู้คนในเมืองตื่นตระหนกและอาจพยายามหนีออกจากเมืองทุกวิถีทาง
มาตรการนี้ยังอาจทำให้เกิดความไม่สงบในสังคมได้ ดังกรณีกาฬโรคระบาดที่นครมุมไบ ซึ่งทางการบังคับกักตัวประชาชนในโรงพยาบาลรวมกัน โดยไม่แยกเพศหรือชนชั้นวรรณะจนทำให้เกิดจลาจลขึ้น
เมื่อครั้งโรคซาร์สระบาดในจีนในปี 2546 ก็เช่นกัน เกิดการชุมนุมประท้วงที่นครนานกิงและเซี่ยงไฮ้ทางภาคตะวันออก เพราะผู้คนทนความทุกข์ยากที่ถูกกักโรคเป็นเวลานานไม่ไหว
เชื่อมั่นว่าการปิดเมืองอู่ฮั่นและอื่นๆ รัฐบาลจีนจะมีมาตรการรองรับเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด เพราะกว่าจะควบคุมไวรัสอู่ฮั่นได้อาจใช้เวลาหลายเดือน
...
ผู้คนหลายล้านคนจะอยู่กันอย่างไร... ท่ามกลางความทุกข์ยากและหวาดผวานี้!
บวร โทศรีแก้ว