อังกฤษเตรียมตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) ในเวลา 23.00 น. วันที่ 31 ม.ค. หรือตรงกับ 06.00 น. วันที่ 1 ก.พ. ตามเวลาในไทย ซึ่งจะเป็นการสิ้นสุดการเป็นภาคีสหภาพยุโรป (อียู) มาร่วม 47 ปี อังกฤษจัดงานกิจกรรมมากมายเกี่ยวข้องกับเบร็กซิตทั้งการเดินขบวน การเฉลิมฉลองและการจุดเทียนไว้อาลัยของกลุ่มผู้สนับสนุนเบร็กซิตและกลุ่มสนับสนุนการอยู่ร่วมอียู ตามลำดับ
อาคารสถานที่บริเวณไวท์ฮอลล์ ถนนสายสำคัญใจกลางกรุงลอนดอนประดับไฟสวยงามและติดริ้วธงชาติอังกฤษบริเวณจัตุรัสรัฐสภาเหรียญที่ระลึกเบร็กซิตจะเข้าสู่ระบบการเงินอังกฤษเพื่อร่วมฉลองวาระการถอนตัวจากอียูของอังกฤษด้วยแต่หอนาฬิกาบิ๊ก เบน จะไม่ลั่นระฆังเมื่อถึงเวลา 23.00 น. เนื่องจากอยู่ระหว่างบูรณะซ่อมแซม
นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษ หนึ่งในผู้นำการรณรงค์ให้อังกฤษออกจากอียู (เบร็กซิต) จนอังกฤษทำประชามติสนับสนุนเมื่อปี 2559 จัดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เมืองซันเดอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเมืองแรกที่สนับสนุนเบร็กซิต หลังรู้ผลการนับคะแนนประชามติ และแถลงผ่านคลิปวิดีโอที่มีการบันทึกไว้ล่วงหน้า ใจความหลักเน้นมุมมองด้านบวกให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันมากกว่าประกาศชัยชนะ รวมทั้งระบุว่าการออกจาก อียูถือเป็นรุ่งอรุณวันใหม่ เป็นห้วงเวลาของการเริ่มต้นและเปลี่ยนแปลงของชาติอย่างแท้จริง
...
กำหนดการเบร็กซิตถูกเลื่อนมาแล้ว 3 รอบ หลังสภาผู้แทนฯอังกฤษไม่สนับสนุนข้อตกลงเบร็กซิตที่อดีตนายกฯเทเรซา เมย์ทำกับอียู ทำให้นางเมย์ต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ กระทั่งจอห์นสันขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้เผชิญอุปสรรคมากมายช่วงแรก แต่เมื่อตัดสินใจประกาศเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ผลเลือกตั้งเป็นใจชนะเลือกตั้งเสียงข้างมาก จึงสามารถผลักดันเบร็กซิตได้สำเร็จตามที่หาเสียงไว้
แม้เบร็กซิตมีผลบังคับใช้แต่ความเปลี่ยนแปลง จะมีไม่มาก กฎหมายส่วนใหญ่ของอียูรวมทั้งการเดินทางโดยเสรีของประชาชนยังมีผลบังคับใช้ เพราะมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านถึงสิ้นปีนี้ซึ่งอังกฤษตั้งเป้าบรรลุข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับอียู นายชาร์ลส์ มิเชล ประธานสภาแห่งยุโรป (อีซี) เตือนการเข้าถึงตลาดอียูจะถูกเข้มงวดมากขึ้นหลังเบร็กซิต.