ในปี 2560 ชาวนาเมืองวินตัน ในรัฐควีนส์แลนด์ ค้นพบกระดูกที่แตกเป็นชิ้นๆ ในที่นาของตน และสงสัยว่าอาจเป็นซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลไดโนเสาร์ จึงได้ติดต่อพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติยุคไดโนเสาร์แห่งออสเตรเลีย ทำให้ทีมนักวิจัยทั้งจากพิพิธภัณฑ์ และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ รวมถึงนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสวินเบิร์น ในออสเตรเลีย จัดทีมไปขุดหาเพิ่มเติม
และได้พบว่าไดโนเสาร์ตัวใหม่สูงประมาณ 2 เมตร ยาว 5-7 เมตร แม้จะยังไม่ได้พิจารณาความเป็นไปได้ที่มันอาจเป็นสายพันธุ์ใหม่ เพราะนอกจากกระดูกสันหลังบางส่วน 2 ชิ้น มือและเท้าที่ไม่ระบุจำนวน กระดูกมือขนาดใหญ่มีกรงเล็บโค้งที่ใช้จับเหยื่อบ่งบอกว่ามันเป็นนักล่า ยังมีหลักฐานอื่นๆ เช่น ฟันที่ขุดพบในพื้นที่เดียวกัน แต่ก็ระบุได้ว่านี่เป็นฟอสซิลของไดโนเสาร์กลุ่มเธอโรพอด โดยพบเป็นตัวที่ 3 ในออสเตรเลีย ทั้งนี้ เธอโรพอดเป็นไดโนเสาร์ขนาดใหญ่เดินด้วย 2 เท้า กินเนื้อเป็นอาหาร ซึ่งไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) และเวโลซีแรพเตอร์ (Velociraptor) ก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
ก่อนหน้านี้มีการค้นพบเธอโรพอดพันธุ์ “ออสตราโลเวเนเตอร์ วินโตเนซิส” (Australovenator wintonesis) เมื่อปี 2549 แต่ซากฟอสซิลที่พบใหม่นี้มีขนาดใหญ่กว่าออสตราโลเวเนเตอร์ วินโตเนซิส ตัวนั้น จึงยากต่อ การตรวจสอบว่าทั้งคู่จะเป็นสายพันธุ์เดียวกันหรือไม่ และยังถกเถียงกันว่าเธอโรพอดที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียมีขนหรือไม่มี แต่ขนาดฟอสซิลที่ใหญ่กว่าที่เคยพบก็แสดงให้เห็นว่าไดโนเสาร์ชนิดกินเนื้อที่รู้จักกันมากที่สุดนั้นอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย.
ออสตราโลเวเนเตอร์ Credit : Matt A. White, Phil R. Bell, Alex G. Cook, David G. Barnes, Travis R. Tischler, Brant J. Bassam,David A. Elliott - CC BY 2.5
...