สักวันเมื่อคนเราเดินไปตามถนนหนทางหากต้องการดูสภาวะจริงที่แต่งเติมขึ้นด้วยเทคโนโลยี เช่น เห็นอัตราการเต้นของหัวใจ การอ่านระดับน้ำตาล การพยากรณ์อากาศ การแปลแบบเรียลไทม์ ดูแผนที่ หรือค้นหาชื่อบุคคลที่กำลังมองหา เทคโนโลยีเหล่านี้หากออกแบบเป็นแว่นตาก็ดูจะเก่าไปแล้ว หลังบริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาเปิดตัวคอนแทกเลนส์อัจฉริยะ ที่ผู้ใช้จะควบคุมด้วยการเคลื่อนไหวดวงตาและท่าทางที่ละเอียดอ่อนได้
ว่ากันว่านี่จะเป็นคอนแทกเลนส์อัจฉริยะอันแรกของโลก โดยผู้พัฒนาหวังใช้ช่วยเหลือผู้ที่มองเห็นเลือนราง ด้วยการแสดงภาพซ้อนทับที่ได้รับการปรับปรุงรายละเอียดที่คมชัดหรือการซูมเข้า ช่วยให้บุคคลที่ประสบปัญหามองเห็น เทคโนโลยีนี้สร้างขึ้นในสเคลอรัลเลนส์ (Scleral Lens) เป็นคอนแทกเลนส์ขนาดใหญ่กว่าตาดำ มีส่วนโป่งที่อยู่เหนือพื้นผิวตาเล็กน้อย ผู้ผลิตอ้างว่าเลนส์ต้นแบบมีจอแสดงผล 14,000 ppi มีอุปกรณ์ที่แปลงภาพที่เห็นด้วยตาเป็นสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์หรือเซ็นเซอร์รูปภาพ มีวิทยุ และเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวติดตั้งเพื่อช่วยในการวางซ้อนและทำให้ภาพมีเสถียรภาพ
อย่างไรก็ตาม ในการทดสอบเบื้องต้นพบว่าการแสดงผลดูเหมือนใช้งานได้เมื่ออยู่ใกล้กับดวงตา แต่ยังไม่มีใครทดลองใส่คอนแทกเลนส์ดังกล่าวจริงๆ ซึ่งต้องใช้แบตเตอรี่ภายนอกและหน่วยประมวลผลกลางเพื่อให้เลนส์ทำงานได้ ส่วนการวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์คาดว่าประมาณ 2 ปีข้างหน้า ซึ่งบริษัทผู้พัฒนาต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาตรวจสอบและอนุมัติขั้นสุดท้าย.