นับเป็นโศกนาฏกรรมอันโหดร้าย กรณีเที่ยวบินโดยสาร พีเอส752 สายการบินยูเครน ถูกอาวุธต่อต้านอากาศยาน ยิงตกในพื้นที่กรุงเตหะรานของอิหร่าน เสียชีวิตยกลำ 176 คน

โดยจากข้อมูลที่ปรากฏ พบว่าเป็นฝีมือของหน่วยต่อต้านอากาศยาน สังกัดกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านที่ใช้จรวดพิสัยใกล้ ทอร์–เอ็ม 1 ซึ่งเป็นอาวุธของรัสเซีย ออกแบบมาสำหรับคุ้มกันการเคลื่อนกำลังพล สกัดกั้นการโจมตีจากเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์จู่โจม จรวด หรือกระทั่งยิงสกัดลูกกระสุนปืนใหญ่กลางอากาศ

แม้ทางการอิหร่านได้ยอมรับแล้วว่าเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ แต่นักวิเคราะห์ ความมั่นคงสหรัฐฯบางส่วน มองว่าจะโทษความ สะเพร่าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ควรมองภาพรวม จึงจะเข้าใจว่า สถานการณ์ตอนนั้นอยู่ในภาวะบีบบังคับ และไม่แปลก ที่ทำไมเจ้าหน้าที่หน่วยนั้นต้องตัดสินใจเหนี่ยวไก

เพราะย้อนกลับไปตั้งแต่กองทัพสหรัฐฯสังหาร พล.อ.กัสเซม โซไลมานี ของอิหร่าน วันที่ 3 ม.ค. ได้ทำให้ทั่วโลกเชื่อว่ากำลังจะเกิดสงคราม สหรัฐฯมีการขยับกองทัพอากาศเข้าสู่ภูมิภาค ขณะที่รัฐบาลอิหร่านได้ประกาศจะล้างแค้น พร้อมมีคำสั่งเตรียมความพร้อมขั้นสูงสุด เพื่อรับมือการ “สวนหมัด” ที่อาจเกิดขึ้น

แน่นอนว่าการรบเต็มรูปแบบกับสหรัฐฯ จะเป็นสิ่งที่กองทัพอิหร่านไม่เคยประสบมาก่อน และจากหลายเหตุความขัดแย้งที่ผ่านมา สหรัฐฯจะใช้ยุทธวิธีถล่มให้น่วมด้วยขีปนาวุธระยะไกล หรือเครื่องบินพรางเรดาร์สเตลธ์ พ่วงกับการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ป่วนการสื่อสารสัญญาณดิจิทัล

ด้วยภาพฝังหัวเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและสภาพร่างกายของเจ้าหน้าที่ ที่ต้องสแตนด์บายต่อเนื่องมานานกว่า 5 วัน ทั้งหน่วยต่อต้านอากาศยานเปรียบเสมือนปราการด่านแรกในการสกัดกั้นภัยคุกคามต่อบ้านเมือง ไม่รวมถึงความเป็นไปได้ที่ตัวเองจะถูกยิงตายก่อน จากจรวดติดตามคลื่นสัญญาณ เอจีเอ็ม–88 ของสหรัฐฯ ซึ่งจะพุ่งใส่ระบบต่อต้านอากาศยานทางภาคพื้นดินที่ปล่อยคลื่นเรดาร์หรือวิทยุออกมา

...

ความกลัวตาย ความเหนื่อยล้า ความกังวลว่าเรดาร์ตรวจจับจะมองไม่เห็นอาวุธของสหรัฐฯที่ยิงสวนมา และแรงกดดันให้ตัดสินใจว่าจะยิงดีไม่ยิงดีในช่วงเสี้ยวนาที อาจเป็นปัจจัยผสมผสานกัน จนนำไปสู่คำตอบอันเลวร้าย ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น!?

ตุ๊ ปากเกร็ด