โลกก้าวสู่ทศวรรษที่ 2 ของยุคศตวรรษ 21 ภัยธรรมชาติยังเกิดขึ้นแก่มนุษย์อย่างต่อเนื่อง เหตุไฟไหม้ป่าในออสเตรเลียคุกคามมนุษย์และสัตว์แก้ปัญหายังไม่ตก ภูเขาไฟในฟิลิปปินส์ปะทุรุนแรงหวั่นเกิดระเบิดได้ทุกเวลา
รายงานเกี่ยวกับ “หายนะภัยธรรมชาติ 2019” ของหน่วยงานการกุศลในอังกฤษ สรุปข้อมูลภัยธรรมชาติช่วงปีที่แล้ว พบค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกช่วงปีที่แล้วถือเป็นปีร้อนที่สุดอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ อีกทั้งพบความเชื่อมโยงกันระหว่าง “ภัยธรรมชาติรุนแรง” กับ “ความเปลี่ยนแปลงของสภาพชั้นบรรยากาศโลกเปลี่ยนไป”
ตลอดช่วงปีที่แล้ว หายนะภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ทั่วโลกอย่างน้อย 15 ครั้ง ก่อเกิดความเสียหายด้านเศรษฐกิจเฉลี่ยแต่ละครั้งมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 31,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้อย่างน้อย 7 ครั้ง ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจแต่ละครั้งมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 310,000 ล้านบาท
ส่วนหนึ่งของพิบัติภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเกิน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อช่วงปีที่แล้ว อาทิ น้ำท่วมภาคเหนืออินเดีย ไต้ฝุ่นเลกิมาถล่มจีนและฟิลิปปินส์ เฮอริเคนโดเรียนถล่มหมู่เกาะบาฮามาส น้ำท่วมใหญ่ในจีน น้ำท่วมใหญ่เขตมิดเวสต์ของสหรัฐฯ ไต้ฝุ่นฮากิบิสพัดถล่มญี่ปุ่นและไฟไหม้ป่ารุนแรงในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายมูลค่ามากราว 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สิ่งที่น่าสังเกตจากพิบัติภัยธรรมชาติทั่วโลกพบว่า ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดแก่กลุ่มชาติยากจน อันได้แก่ อินเดีย และชาติแถบทวีปแอฟริกาตอนใต้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้คนมากกว่าพิบัติภัยธรรมชาติที่เกิดแก่กลุ่มชาติร่ำรวย ทั้งๆที่ค่าเฉลี่ยการทำลายชั้นบรรยากาศโลกของกลุ่มชาติร่ำรวยมากกว่ากลุ่มชาติยากจน แต่กลุ่มชาติยากจนกลับต้องถูกผลกระทบเสียหายรุนแรงมากกว่า
...
รายงานฉบับนี้ยังสรุปด้วยว่า การปล่อยก๊าซทำลายชั้นบรรยากาศโลกช่วงปี 2019 มากกว่าช่วงปี 2018 นั่นคือส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ทำให้ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิฤดูร้อนในทวีปยุโรปช่วงปีที่แล้วร้อนทุบสถิติ ทั้งยังเกิดคลื่นร้อนไฟไหม้ป่าในรัฐแคลิฟอร์เนีย ไฟไหม้ป่าในออสเตรเลีย พายุไซโคลนรุนแรงพัดถล่มโมซัมบิกในทวีปแอฟริกาตะวันออกและเหตุน้ำท่วมใหญ่เมืองเวนิสของอิตาลี
ภัยคุกคามจากผลกระทบโลกร้อน ทำให้หลายประเทศตื่นตัวตระหนักภัยกันมากขึ้น ตัวอย่างอินโดนีเซียอยู่ระหว่างเร่งจัดการย้ายเมืองหลวงกรุงจาการ์ตา เพราะเมืองหลวงอินโดนีเซียจมทะเล ลงทุกวัน
ถ้าสถานการณ์สภาพชั้นบรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราสม่ำเสมอเช่นนี้ภายในสิ้นศตวรรษนี้ หรืออีกราว 80 ปี ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นราว 2-3 องศาเซลเซียส...
อานุภาพ เงินกระแชง