(ภาพ : Credit : Science Advances (2019). DOI: 10.1126/sciadv.aax5078)
อุกกาบาตชื่อ Acfer 094 น้ำหนัก 82 กรัม ถูกพบที่ภูเขาในประเทศแอลจีเรียเมื่อปี พ.ศ.2533 เป็นหนึ่งในวัตถุจากอวกาศที่ได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจังนับตั้งแต่มีการค้นพบ เนื่องจากมีอายุประมาณ 4,600 ล้านปี จัดเป็นอุกกาบาตชนิดดั้งเดิม นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่านี่เป็นหลักฐานของระบบสุริยะ โบราณ และอาจจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีที่ดาว เคราะห์และเทห์ฟากฟ้าหรือวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ ก่อตัวขึ้น
เมื่อเร็วๆนี้ทีมนักวิจัยจากญี่ปุ่น จีน และสหราชอาณาจักร ได้รายงานลงในวารสารความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ (Science Advances) ถึงการค้นพบหลักฐานซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลน้ำแข็งบนพื้นผิวอุกกาบาต Acfer 094 จากการใช้รังสีนาโนที่คำนวณด้วยรังสีซินโครตรอน ทำให้มองเห็นรูเปิดเล็กๆ ขนาด 10 ไมครอนอยู่ไปทั่ว ทีมวิจัยเชื่อว่ารูเล็กๆเหล่านั้นเป็นฟอสซิลผลึกน้ำแข็ง ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเมื่ออุกกาบาตพุ่งเคลื่อนข้ามแนวหิมะที่มีลักษณะเสมือนทรงกลมล้อมรอบดวงอาทิตย์ เรียกว่าเป็นแนวเขตแดนที่ความร้อนจากดวงอาทิตย์สามารถละลายน้ำแข็งบนอุกกาบาตได้
นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการก่อตัวของแร่ธาตุในรูขนาดจิ๋วดังกล่าว เป็นผลมาจากการทำปฏิกิริยาระหว่างน้ำและสสารหลายชนิดในหินที่ประกอบกันเป็นอุกกาบาต ทีมมองว่าการค้นพบนี้สำคัญเพราะอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่ดีขึ้นว่าน้ำบนโลกเกิดขึ้นได้อย่างไร และเป็นไปได้ว่าอาจมาจากที่ที่ไกลออกไปในระบบสุริยะ.