(ภาพ) แทรกแซง? – ชาวฮ่องกงชูโปสเตอร์รูปนางแคร์รี แลม ผู้นำฮ่องกง และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ระหว่างการประท้วงแบบ “แฟลชม็อบ” หลังทรัมป์ลงนามกฎหมายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฮ่องกง ซึ่งจีนชี้ว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในอย่างชัดแจ้ง (เอเอฟพี)
การประท้วงรุนแรงในฮ่องกง เขตบริหารพิเศษของจีน ซึ่งยืดเยื้อมา 6 เดือน สงบไปชั่วระยะหนึ่ง ตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือสภาเขต เมื่อ 24 พ.ย. แต่สถานการณ์ยังอึมครึมเพราะไม่มีใครยอมถอย
ผลการเลือกตั้ง ฝ่ายเชิดชูประชาธิปไตยชนะถล่มทลาย คว้าที่นั่งได้ถึง 89% หรือ 347 ที่นั่ง จากทั้งหมด 452 ที่นั่ง ยึดสภาเขตได้ถึง 17 เขต จากทั้งหมด 18 เขต ผู้ชนะหลายคนเป็นแกนนำนักศึกษาวัยละอ่อน ซึ่งโค่นนักการเมืองรุ่นใหญ่ฝ่ายรัฐบาลฮ่องกงที่ฝักใฝ่จีนได้
การเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่การประท้วงล่าสุดปะทุขึ้นเมื่อต้นเดือน มิ.ย. ยังมีผู้ออกมาใช้สิทธิถึง 71% สูงกว่าครั้งก่อนราว 2 เท่า จากผู้มีสิทธิออกเสียง 4.13 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 7.4 ล้านคน แม้สภาเขตมีอำนาจการเมืองน้อย หน้าที่หลักคือดูแลการคมนาคมขนส่งและงานบริการชุมชนต่างๆ เช่น เก็บขยะ
ก่อนการเลือกตั้ง ฝ่ายรัฐบาลฮ่องกงและจีนคาดหวังว่าชาวฮ่องกงส่วนใหญ่ที่เป็น “พลังเงียบ” ที่ต่อต้านความรุนแรง จะเทคะแนนให้ฝ่ายตนเป็นผู้ชนะ โดยจีนชี้ว่าผู้ประท้วงที่ก่อความรุนแรงเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยที่ใช้ยุทธวิธีก่อจลาจลป่วนเมือง
แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมากลับเป็นตรงข้าม ทำให้ฝ่ายผู้ประท้วงอ้างได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนการประท้วง แม้จะก่อความรุนแรงจนฮ่องกงเป็นอัมพาต ธุรกิจต่างๆ พังพินาศ ส่งผลให้เศรษฐกิจฮ่องกงถดถอยเป็นครั้งแรก
...
แต่ข้อกล่าวอ้างนี้อาจไม่ใช่ความจริงโดยสิ้นเชิง เพราะชาวฮ่องกงส่วนใหญ่คงไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง แต่ที่เทคะแนนให้ฝ่ายประชาธิปไตยก็เพียงเพื่อแสดงพลัง “ขับไล่” รัฐบาลฮ่องกงภายใต้การนำของนางแคร์รี แลม เพราะเห็นว่าเธอแค่เป็น “หุ่นเชิด” ของจีน ไม่ฟังเสียงคนฮ่องกง อีกทั้งจัดการกับวิกฤติการประท้วงไม่เหมาะสม ดื้อดึงไม่ประนีประนอม มุ่งแต่ให้ตำรวจใช้กำลังสยบผู้ประท้วงให้ได้เท่านั้น
ชาวฮ่องกงยังอาจต้องการแสดงพลังต่อต้านอิทธิพลจีนที่รุกคืบครอบงำฮ่องกงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหวั่นว่าประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพในระดับสูงของพวกตนที่มีมาตั้งแต่ถูกปกครองโดยอังกฤษจะถูกลิดรอนจนฮ่องกงมีสภาพเหมือนจีนแผ่นดินใหญ่ในที่สุด
ด้วยเหตุนี้ ผู้ประท้วงจึงยืนยันให้นางแคร์รี แลม ลาออก ให้สอบสวนเอาผิดการใช้ความรุนแรงของตำรวจซึ่งกลายเป็น “ศัตรูของประชาชน” ไปแล้ว และให้มีการเลือกตั้งผู้นำฮ่องกงและสมาชิกสภานิติบัญญัติโดยตรงแบบประชาธิปไตยเต็มใบ แทนการเลือกตั้งทางอ้อมที่จีนเป็นผู้ควบคุม
แม้นางแลมจะยอมยกเลิกร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีน มาเก๊าและไต้หวัน ซึ่งเป็นตัวจุดชนวนการประท้วงแล้ว แต่ยังไงๆ ก็ไม่ยอมอ่อนข้อต่อข้อเรียกร้องอื่นๆ โดยยืนกรานว่าการประท้วงรุนแรงต้องยุติก่อนถึงจะเจรจากันได้ นั่นยิ่งทำให้ผู้ประท้วงโกรธแค้นหันไปใช้ยุทธวิธีรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งบุกยึดมหาวิทยาลัยใช้เป็นฐานต่อสู้กับตำรวจอย่างดุเดือด
หลังการเลือกตั้ง แม้นางแลมบอกว่าจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างนอบน้อมและตรึกตรองอย่างจริงจัง จะเร่งเปิดการเจรจาสาธารณะและหาวิธีแก้ความขุ่นแค้นต่างๆในสังคม แต่ก็ไม่ยอมถอยจากจุดยืนเดิมแม้แต่น้อย ทำให้ผู้ประท้วงประกาศสู้ต่อไป เพื่อไม่ให้ “เสียของ” หลังทุ่มเทประท้วงมาทุกวิถีทาง
ส่วนรัฐบาลจีนก็ยังสนับสนุนนางแลมอย่างเด็ดเดี่ยว ประกาศกร้าวว่าอธิปไตยของจีนเหนือฮ่องกง และหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ไม่อาจประนีประนอมได้ สื่อจีนยังแทบไม่รายงานข่าวผลการเลือกตั้งฮ่องกงครั้งนี้ หรือถ้ารายงานบ้างก็ชี้ว่าการเลือกตั้งถูกบิดเบือนจากความรุนแรงและการข่มขู่คุกคามจากฝ่ายผู้ประท้วง และว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สำคัญอะไร เพราะเป็นแค่การเลือกตั้งท้องถิ่น
...
แต่ลึกๆแล้ว ผลการเลือกตั้งครั้งนี้คงทำให้จีนตระหนักดีว่าชาวฮ่องกงส่งสัญญาณอะไร แต่จะให้ยอมทำตามข้อเรียกร้องหลักๆ ของผู้ประท้วงนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะมหาอำนาจจีนยึดถือศักดิ์ศรี เสถียรภาพ และความมั่นคงของประเทศเหนืออื่นใด
จีนยังหวั่นว่าถ้าฮ่องกงยังไม่สงบ จะยิ่งเปิดช่องให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงมากขึ้น ดังกรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามรับรองกฎหมายสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยฮ่องกง เพื่อให้สหรัฐฯทบทวนการให้สถานะพิเศษทางการค้ากับฮ่องกงแบบรายปีได้ ซึ่งจีนถือว่าเป็นการแทรกแซงอธิปไตยของตนอย่างชัดเจน
จีนมีทหารประจำการอยู่ในฮ่องกงหลายพันนาย แต่การตัดสินใจสั่งทหารใช้กำลังกวาดล้างผู้ประท้วงในฮ่องกงคือ “ทางเลือกสุดท้าย” เมื่อไร้หนทางอื่นแล้วเท่านั้น เพราะจะส่งผลกระทบรุนแรงมาก ทั้งต่อภาพลักษณ์ของจีนในเวทีโลก และต่อการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม
วิกฤตการณ์ฮ่องกงจึงยิ่งสลับซับซ้อน แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ทางออกโดยสิ้นเชิง เพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยอมถอยก่อนสักก้าวเล็กๆ เพื่อเปิดทางสู่การเจรจากันอย่างจริงจังและจริงใจ วิกฤติอาจคลี่คลายลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ!
บวร โทศรีแก้ว