เป็นหนึ่งในข่าวใหญ่ที่สุดของโลกในปีนี้ เมื่อหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฯใช้เฮลิคอปเตอร์ 8 ลำ และทหารราบ บุกจู่โจมสังหารนายอาบู บัคร์ อัล-แบกแดดี ผู้นำสูงสุดของกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่หมู่บ้านบาริชา จ.อิดลิบ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือซีเรีย เมื่อ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เย้ยหยันว่าแบกแดดีหนีลงอุโมงค์ตันขณะถูกสุนัขทหารไล่ล่าก่อนกดระเบิดที่เข็มขัดฆ่าตัวตายพร้อมลูกเล็ก 3 คน เขาตายเหมือนหมา ร้องไห้โหยหวนอย่างขี้ขลาดหวาดกลัวก่อนตาย ส่วนสุนัขทหารพันธุ์เบลเยียม มาลินอยส์ ที่ไล่ล่าแบกแดดีจนตัวมันบาดเจ็บ ถูกยกย่องเป็น “ฮีโร่”

ปฏิบัติการเด็ดหัวแบกแดดีมีชื่อว่า “เคย์ลา มุลเลอร์” ตามชื่อ น.ส.เคย์ลา มุลเลอร์ เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ วัย 26 ปี ชาวอเมริกัน ที่ถูกไอเอสฆ่าหลังถูกจับเป็นตัวประกันในซีเรียในปี 2556 ปฏิบัติการนี้มีรัสเซีย ตุรกี ซีเรีย และกองกำลังเอสดีเอฟ นำโดยกบฏชาวเคิร์ดที่เคยช่วยสหรัฐฯกวาดล้างไอเอสจนแตกพ่ายคอยช่วยเหลือ

สายลับเคิร์ดตามรอยแบกแดดีตั้งแต่เดือน พ.ค. และลอบส่งข้อมูลให้ซีไอเอสหรัฐฯจนรู้ที่ซ่อนตัวแบกแดดีแน่ชัด สาเหตุหนึ่งที่แบกแดดีสิ้นชื่อ เพราะชะล่าใจลอบนำลูกน้องไปประชุมหาทางฟื้นฟูกลุ่มไอเอสที่ จ.อิดลิบ เขตอิทธิพลของกลุ่ม “ฮายัต ทาฮ์รี อัล-ชัม” แนวร่วมของเครือข่าย “อัล เคดา” ที่เป็นศัตรูกับไอเอส

...

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ชี้ว่าแม้การปลิดชีพแบกแดดีจะส่งผลกระทบรุนแรงมากต่อไอเอส ซึ่งยังไม่มีผู้นำใหม่ชัดเจน แต่จะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เพราะปกติกลุ่มก่อการร้ายใหญ่ๆ มีความยืดหยุ่นสูง และมีตัวตายตัวแทนเร็วมาก ดังเช่น หลังอาบู มูซาบ อัล-ซาร์คาวี และอาบู โอมาร์ อัล-แบกแดดี ผู้นำ 2 คนก่อนของกลุ่มอัล เคดา ในอิรัก ถูกสังหารในปี 2549 และ 2553 ก็มีผู้นำใหม่พร้อมสู้ต่อภายในไม่กี่เดือน

หลังสหรัฐฯบุกจู่โจมสังหารโอซามา บิน ลาดิน ผู้นำอัล เคดา ในปากีสถานในปี 2554 กลุ่มอัล เคดา ก็ตั้งผู้นำใหม่และฟื้นตัว แม้ยัง ไม่ยิ่งใหญ่เท่าเดิมแต่มีแนวร่วมสาขาอยู่ในหลายประเทศและเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อิรัก และอัฟกานิสถาน ยังระบุว่า แม้สิ้นแบกแดดี แต่ยังมีนักรบไอเอสอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือซีเรียกว่า 10,000 คน รอโอกาสฟื้นฟูกำลังพลใหม่ โดยใช้ยุทธวิธีโจมตีแบบกองโจร นอกจากนี้ สาขาและแนวร่วมของไอเอสนอกซีเรียยังเข้มแข็งและมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สาขาของไอเอสที่เป็นหัวหอกชื่อกลุ่ม “ไอซิส-โคราซาน” ใน อัฟกานิสถาน ไอเอสยังเข้าไปปักหลักขยายอิทธิพลในอีกหลายประเทศ ทั้งปากีสถาน ทาจิกิสถาน อิหร่าน อินเดีย บังกลาเทศ จนถึงอินโดนีเซีย

ที่สำคัญที่สุด แม้จะสูญเสียผู้นำ แต่ “อุดมการณ์” ของไอเอสยังคงอยู่ โดยเฉพาะหลักการที่แบกแดดีสั่งไว้ว่า “จงฆ่าในที่เอ็งอยู่” (Kill where you are) ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้สาวกและแนวร่วมไอเอสทั่วโลกทั้งที่เป็นกลุ่มและบุคคล ก่อเหตุโจมตีในทุกที่ทุกเวลาที่ทำได้ ซึ่งมีตัวอย่างรวมทั้งในสวีเดนและสหรัฐฯ ซึ่งผู้ก่อการร้ายประกาศว่าเป็นนักรบไอเอสหรือสาวกของแบกแดดีก่อนหรือขณะก่อเหตุ

นายโอมาร์ มาทีน มือปืนผู้กราดยิงในไนต์คลับ เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา ในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตถึง 49 คน ก็โทรศัพท์ถึง 911 บอกว่า ตนเป็นทหารไอเอสและสาวกของแบกแดดี ไม่กี่เดือนต่อมา นางทาชฟีน มาลิค ซึ่งร่วมกับสามี บุกกราดยิงในงานปาร์ตี้เมืองซานเบอร์นาร์ดิโน รัฐแคลิฟอร์เนีย มีผู้เสียชีวิต 14 คน ก็ไลฟ์สดใน “เฟซบุ๊ก” หลังเริ่มลงมือโจมตี โดยประกาศว่าเป็นสาวกแบกแดดีเช่นกัน

แบกแดดีริเริ่มก่อตั้งไอเอสในปี 2546 ขณะติดคุกอยู่ในค่ายทหาร “บุกกา” ของสหรัฐฯในอิรัก ในคุกเขาได้รู้จักกับอดีตทหารและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรัก ซึ่งถูกกองทัพพันธมิตรนำโดยสหรัฐฯบุกโค่นล้ม หลังออกจากคุกก็พาแกนนำเหล่านี้ตีจากอัล เคดา ในอิรักไปตั้งกลุ่มไอเอส

ต่อมาไอเอสแข็งแกร่งขึ้นจนยึดดินแดนในอิรักและซีเรียได้กว้างขวางและประกาศตั้ง “รัฐอิสลาม” ที่เมืองโมซูลในอิรัก ในปี 2557 มีเมืองหลวงที่เมืองรักกาในซีเรีย ก่อนถูกสหรัฐฯและพันธมิตรกวาดล้างนานกว่า 5 ปี จนแตกพ่ายทิ้งฐานที่มั่นในอิรักเมื่อปีที่แล้วและในซีเรียเมื่อเดือน มี.ค.ปีนี้

การเด็ดหัวผู้นำไอเอสหรืออัล เคดา อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การ กำจัด “อุดมการณ์” ของกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ยากเย็นแสนเข็ญยิ่งกว่ามากมายนัก!

บวร โทศรีแก้ว