โนเบลสันติภาพคนที่ 100

รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ค.ศ.2019 ตกเป็นของนายอาบี อาเหม็ด นายกรัฐมนตรีเอธิโอเปีย วัย 48 ปี ในฐานะผู้พยายามบรรลุสันติภาพและความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้วยการบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับเอริเทรีย นับเป็นผู้พิชิตรางวัลโนเบลสันติภาพคนที่ 100 พอดี!
หลังขึ้นรับตำแหน่งในเดือน เม.ย.2018 ได้ 6 เดือน อาบีก็สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยการลงนามข้อตกลงสันติภาพกับ “เอริเทรีย” ชาติเพื่อนบ้าน ยุติภาวะชะงักงันทางทหาร 20 ปี หลังทำสงครามกันที่ชายแดนช่วงปี 1998-2000 เขายังปล่อยนักโทษการเมืองฝ่ายค้านหลายพันคน และอนุญาตให้กลุ่มติดอาวุธพลัดถิ่นที่รัฐบาลเคยจัดให้เป็น “ผู้ก่อการร้าย” กลับประเทศ พร้อมทั้งขอโทษในความทารุณโหดร้ายที่รัฐบาลเคยกระทำ
อาบีเกิดที่เมืองเบชาชา ทางภาคตะวันตก ในครอบครัวยากจน พ่อเป็นชาวมุสลิม แม่เป็นคริสเตียน ในวัยเด็กต้องนอนกับพื้น ไม่เคยเห็นไฟฟ้าและถนนลาดยางมะตอย เขาหลงใหลเรื่องเทคโนโลยี เริ่มทำงานในกองทัพด้วยการเป็นคนรับโทรศัพท์ให้สถานีวิทยุทหาร ไต่เต้าจนได้ยศพันโท ก่อนเข้าทำงานกับรัฐบาลผสม “แนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตยประชาชนเอธิโอเปีย” (อีพีอาร์ดีเอฟ) ซึ่งขึ้นมาปกครองแทนรัฐบาลทหารในปี 1991 โดยเริ่มจากเป็นเจ้าหน้าที่ความมั่นคง เขายังเป็นผู้ก่อตั้งสำนักงานความมั่นคงเครือข่ายข้อมูลข่าวสารหรือหน่วยข่าวกรองไซเบอร์
จากนั้นอาบีได้เป็นรัฐมนตรีในกรุงแอดดิสอาบาบาและเป็นผู้แทนรัฐบาลในภูมิภาคโอโรเมียบ้านเกิด จุดพลิกผันที่ทำให้เขาขึ้นสู่อำนาจคือปลายปี 2015 รัฐบาลจะขยายเขตบริหารในเมืองหลวงไปภูมิภาคโอโรเมีย มีการบังคับเวนคืนที่ดิน ทำให้ชาวโอโรโมกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่สุดของประเทศและชาวเผ่าอัมฮาราโกรธแค้นลุกฮือประท้วง
แม้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินและจับผู้ประท้วงจำนวนมากแต่คุมสถานการณ์ไม่อยู่ นายกฯไฮเลมาเรียม เดซาเลจน์ ต้องลาออก อีพีอาร์ดีเอฟกลัวเกิดการแย่งชิงอำนาจภายในจนรัฐบาลล่มสลาย จึงแก้ปัญหาด้วยการตั้งให้อาบีเป็นนายกฯ ที่เป็นชาวโอโรโมคนแรก
อาบียังเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยวิกฤติการเมืองในซูดานและช่วยฟื้นฟูข้อตกลงสันติภาพในซูดานใต้ แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่านโยบายเปลี่ยนแปลงของเขาใหญ่โตและเร็วเกินไปสำหรับผู้นำขั้วการเมืองเก่า แต่ช้าเกินไปสำหรับคนรุ่นใหม่ ในยุคอาบี ความรุนแรงระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ยังปะทุขึ้น และเมื่อเดือน มิ.ย.2018 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลหลายคนถูกลอบสังหาร รวมทั้งผบ.สส.และผู้นำภูมิภาคคนสำคัญ
อาบีเองก็พูดเสมอว่าตนเคยตกเป็นเป้าลอบสังหารหลายครั้ง รวมทั้งการโจมตีด้วยระเบิดมือในที่ชุมนุมหลังรับตำแหน่งได้ 2 เดือน แม้ยังดวงดีรอดมาได้ทุกครั้ง แต่ไม่รู้ว่าวันไหนจะ “ดวงถึงฆาต”!
บวร โทศรีแก้ว