เมื่อ 8 ต.ค.62 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานบทความ กรณีความสับสนทางด้านนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา หลังเมื่อวันที่ 7 ต.ค.62 นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศไฟเขียวให้กองทัพตุรกีเคลื่อนกำลังลงใต้เข้าสู่ซีเรีย เพื่อบดขยี้กองกำลังชาวเคิร์ด ที่ทางการตุรกีมองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย
โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังนายทรัมป์ได้รับโทรศัพท์สายตรงจากนายเรเซป ทายยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกีในวันที่ 6 ต.ค. เพื่อขอการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เรื่องการส่งกำลังแทรกซึมไปในซีเรีย ซึ่งต่อมาทางทำเนียบขาวได้ให้คำตอบว่า กองกำลังของสหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากพื้นที่ดังกล่าว เสมือนเป็นสัญญาณกลายๆ ว่า กองทัพตุรกีสามารถจัดการได้ตามใจชอบ

แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ระบุเพิ่มเติมว่า รัฐบาลตุรกีไม่ได้ขอให้เราถอนทหาร แต่เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ทราบว่าเรามีเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษอยู่ในพื้นที่ 50 นาย จึงได้มีคำสั่งให้ปกป้องเจ้าหน้าที่ชุดนั้นด้วยการให้ถอนกำลังออกมา
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์กลับพลิกตาลปัตรในวันที่ 8 ต.ค. นายทรัมป์ได้สั่งเบรกรัฐบาลตุรกีอย่างเร่งด่วน พร้อมข่มขู่ไปด้วยว่า หากรัฐบาลตุรกีเลยเถิดต่อกรณีนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ จะทำลายเศรษฐกิจของตุรกีให้ย่อยยับ ซึ่งมีความชัดเจนว่าคำประกาศดังกล่าว เป็นความพยายามที่จะกลบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายในรัฐบาลสหรัฐฯ หลังถูกนายมิช แม็คคอนเนล แกนนำวุฒิสมาชิกรีพับลิกัน รวมถึงส.ส.และส.ว.คองเกรสรายอื่นๆ ที่โจมตีว่าเป็นการแทงข้างหลังอย่างร้ายกาจ ต่อกองกำลังชาวเคิร์ด ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ดึงมาเข้าร่วมพันธมิตร และเป็นเครื่องมือสำคัญในการสยบกองกำลังรัฐอิสลามหรือไอเอส ในภูมิภาคตะวันออกของซีเรีย
...

แม้นายทรัมป์จะประกาศต่อผู้สื่อข่าวว่า การตัดสินใจเรื่องซีเรียได้ผ่านการปรึกษาเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายแล้ว แต่แหล่งข่าวในแวดวงรัฐบาลเปิดเผยว่า ณ ขณะนั้นเจ้าหน้าที่มีความสับสน และต้องพยายามตีความกันเอง นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า สายบัญชาการทำเนียบขาวสหรัฐฯ แบบในอดีตที่ทำงานกันเป็นขั้นเป็นตอน ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปจนเกือบหมดสิ้น และที่ปรึกษาน้อยคนนักที่จะกล้าขัดประสงค์ของนายทรัมป์

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครกล้าขัดผู้นำทรัมป์ ก็คือเหตุนายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาระดับสูง ซึ่งเป็นสายเหยี่ยวและมีความใกล้ชิดระดับวงใน ได้ถูกสั่งปลดกลางอากาศเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลสหรัฐฯ บางส่วนยังกังวลด้วยว่า การเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปีหน้า จะยิ่งทำให้การตัดสินแบบหุนหันพลันแล่นของนายทรัมป์เพิ่มขึ้น และนายทรัมป์ยังได้แสดงท่าทีว่าจะทำตามที่หาเสียงไว้ให้สำเร็จ โดยเฉพาะเรื่องถอนทหารสหรัฐฯ จากสงครามที่ดูเหมือนไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งประเด็นถอนทหารถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์ความมั่นคง และเคยส่งผลให้พล.อ.เจมส์ แมททิส ประท้วงด้วยการลาออกจากตำแหน่งรมว.กลาโหมมาแล้วในเดือน ธ.ค. 2561

แต่ในขณะเดียวกัน นายทรัมป์เองก็เป็นคนล้มโต๊ะเจรจากับกองกำลังติดอาวุธตาลีบันในอัฟกานิสถาน ทั้งที่เป็นช่องทางให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากสงครามในอัฟกานิสถาน นักวิเคราะห์ความมั่นคงในสหรัฐฯ ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่กลาโหมเพนตากอน ตั้งคำถามด้วยว่า จะเป็นเช่นไรหากการตัดสินใจแบบนาทีต่อนาทีของผู้นำทรัมป์เกิดความผิดพลาด ยิ่งในขณะนี้ที่สถานการณ์โลกค่อนข้างเปราะบาง ไม่ว่ากรณีอิหร่าน เกาหลีเหนือ หรืออัฟกานิสถาน และจากการที่กองทัพสหรัฐฯ เข้าไปเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการต่อต้านก่อการร้ายทั่วโลก กรณีที่เกิดขึ้นในซีเรียจะทำให้เราตอบคำถามแก่พันธมิตรอื่นๆ เช่นไร พร้อมเชื่อว่าพันธมิตรเหล่านั้นคงมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว
...