หนึ่งในความท้าทายเกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้าด้านอวกาศก็คือ การพบสิ่งมีชีวิตต่างดาว ทุกวันนี้เราจะเห็นว่ามีสารพันโครงการที่มีเป้าหมายตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก ที่เชื่อว่าจะอาศัยอยู่บนดาวดวงใดดวงหนึ่งดาวดวงนั้นอาจอยู่ใกล้ในระบบสุริยะของเราเอง หรืออยู่ในระบบดาวอื่นๆในกาแล็กซีอื่นที่ไม่ใช่ทางช้างเผือก ซึ่งปัจจุบันก็มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบนับพันดวง บางดวงก็เข้าข่ายว่าอาจเอื้อต่อการอาศัยอยู่ได้ของสิ่งมีชีวิต

แต่ก็มีคำถามตามมาว่า หากวันหนึ่งค้นพบสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวจริงๆจะเกิดอะไรขึ้น เพราะที่ผ่านๆมามนุษย์มีเพียงจินตนาการว่าสิ่งมีชีวิตต่างดาวมีรูปลักษณ์ต่างๆนานา หากค้นพบจริงพวกเขาจะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายเราหรือไม่ มีอารยธรรมอย่างไร สติปัญญาเหนือหรือด้อยกว่า และหากแตกต่างจากมนุษย์จริง พวกเขาจะมีรูปแบบชีวิตแบบไหน เป็นจุลินทรีย์หรืออะไรที่แปลกประหลาดที่สำคัญอันตรายต่อโลกหรือเปล่า

เมื่อเร็วๆนี้ ดร.จิม กรีน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา เผยว่า ภายใน 2 ปีนี้อาจพบสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร หลังจากหุ่นยานยนต์โรเวอร์ Mars 2020 ของนาซาและยานโรเวอร์สำรวจพื้นผิวดาวอังคารโรซาลินด์ (Rosalind) ที่เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจเอ็กโซมาร์ส โรเวอร์ (ExoMars Rover) ขององค์การอวกาศยุโรป จะเจาะลึกไปยังแกนกลางของดาวเคราะห์สีแดงที่เชื่อว่าเปลือกดาวมีกัมมันตภาพรังสี ดังนั้น หากมีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารจริงก็น่าจะอาศัยอยู่ใต้พื้นดิน ซึ่งตัวอย่างดินที่ขุดขึ้นมาจะถูกนำไปตรวจหาสารอินทรีย์ในห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่

เวลาช่วง 2 ปีก็นับว่าไม่นาน สำหรับข้อมูลที่ยิ่งใหญ่ที่หลายคนรอคอย ทว่า ดร.กรีนได้เตือนว่า โลกอาจยังไม่พร้อมกับการปฏิวัติความคิดใหม่จากการค้นพบนี้ เพราะการค้นพบสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารจะก่อเกิดคำถามครั้งใหญ่แก่ชุมชนวิทยาศาสตร์อย่างที่กล่าวไว้เบื้องต้น คำถามที่มาแน่นอนก็คือ สิ่งมีชีวิตนั้นจะเหมือนเราหรือเปล่า เกี่ยวข้องกับเราอย่างไร พวกเขาจะย้ายจากดาวเคราะห์อื่นมายังโลกหรือไม่ ฯลฯ

...

และที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ เพิ่งมีผลการวิจัยก่อนหน้านี้อ้างว่าดาวศุกร์อาจเคยอาศัยอยู่ได้ราว 2,000-3,000 ล้านปี ก่อนที่บรรยากาศบนดาวจะทวีความหนาแน่นและร้อนอย่างไม่น่าเชื่อเมื่อประมาณ 700 ล้านปีก่อน.

ภัค เศารยะ