(แฟ้มภาพ)

ซากโครงกระดูกที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีนั้นมีค่าสำหรับนักวิจัย ที่ศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่เมื่อหลายพันปีจนถึงหลายแสนปีก่อน กระดูกเหล่านี้บางครั้งมีคอลลาเจนซึ่งเป็นโมเลกุลที่มีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากคอลลาเจนจะเผยข้อมูลอันมหาศาลเกี่ยวกับซากของมนุษย์คนนั้น คริสตินา ไรเดอร์ นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ ถึงกับนิยามว่า คอลลาเจนในกระดูกเป็นสมบัติล้ำค่าในอาณาจักรแห่งโบราณคดี

นักมานุษยวิทยาคนดังกล่าวเผยว่า ทีมของเธอได้ค้นพบวิธีที่ดีกว่าในการศึกษาซากกระดูกโบราณ ที่จะใช้คัดกรองตัวอย่างกระดูกเพื่อดูว่ามีคอลลาเจนหรือไม่ โดยกระดูกยังคงสภาพดี ไม่เสียหายหรือถูกทำลายในระหว่างกระบวนการตรวจสอบหรือสกัดคอลลาเจนออกมา เพราะคอลลาเจนในกระดูกเป็นเหมือนใบสูติบัตร หากนักวิทยาศาสตร์พบว่ามีคอลลาเจนเพียงพอ ก็จะสามารถใช้คอลลาเจนในการกำหนดอายุของมนุษย์โบราณผ่านทางการหาอายุจากธาตุกัมมันตรังสี (radiometric dating)

ทีมค้นพบว่าสามารถปรับเทียบเครื่องสเปกโตรมิเตอร์ที่ใช้ขอบเขตของอินฟราเรดใกล้เคียงกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Near-infrared spectroscopy) มาทดสอบกระดูกเพื่อดูปรากฏตัวของคอลลาเจน ซึ่งเครื่องสเปกโตรมิเตอร์นี้ มีขนาดเท่ากับกระเป๋าเอกสาร นั่นหมายความว่าสะดวกต่อการนำไปใช้งานภาคสนามได้.