มีปรากฏการณ์หนึ่งทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่า “ไทดัล ดิสรัปชัน อีเวนต์” (tidal disruption event-TDE) คือการที่ดาวฤกษ์เคลื่อนตัวเข้าใกล้หลุมดำมวลยวดยิ่ง (supermassive black hole) แรงโน้มถ่วงของหลุมดำมวลมหาศาลก็จะทำลายดาวฤกษ์ดังกล่าว และยังดึงก๊าซจากดาวฤกษ์ จากนั้นก็ผลักบางส่วนออกสู่อวกาศ

ล่าสุด ดาวเทียมเทสส์ (Transiting Exoplanet Survey Satellite-TESS) เครื่องมือสำคัญขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบที่มีศักยภาพเอื้อต่อการอาศัยอยู่ได้ของสิ่งมีชีวิต ดาวเทียมเทสส์สามารถจับภาพช่วงเวลาที่หลุมดำมวลยวดยิ่งกำลังฉีกทึ้งทำลายและกลืนกินดาวฤกษ์ขนาดเท่าดวงอาทิตย์ของเรา ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นห่างจากโลก 375 ล้านปีแสง ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวปลาบิน (constellation volans)

ปรากฏการณ์ดาวฤกษ์และหลุมดำนี้ ถูกตั้งชื่อว่า ASASSN-19bt ซึ่งเข้าสูตรเป็น “ไทดัล ดิสรัปชัน อีเวนต์” นักดาราศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์คาร์เนกี ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เผยว่าดาวเทียมเทสส์สังเกต ASASSN-19bt ทุกครึ่งชั่วโมงเป็นเวลาหลายเดือนและเห็นการระเบิดอย่างรุนแรงจากการทำลายดาวฤกษ์ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลมากมายที่ได้มาจากปรากฏการณ์นี้จะช่วยปรับปรุงความเข้าใจในฟิสิกส์การทำงานของดาวฤกษ์ดวงนี้ที่โชคร้ายไปเผชิญกับหลุมดำมวลยวดยิ่ง.

...