ภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่แตกตัวออกจากหิ้งน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกา ทำให้นักวิทยาศาสตร์จับตาดูภูเขาน้ำแข็งก้อนนี้เนื่องจากอาจกระทบต่อการเดินเรือ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 1 ต.ค. 2562 ว่า ภูเขาน้ำแข็งขนาดมหึมาพื้นที่ 1,636 ตารางกิโลเมตร น้ำหนักมากถึง 3.15 แสนล้านตัน แตกตัวออกจากหิ้งน้ำแข็ง ‘อาเมอรี’ ในทวีปแอนตาร์กติกา เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา กลายเป็นภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดที่แยกออกจากหิ้งน้ำแข็งแห่งนี้ในรอบกว่า 50 ปี
ภูเขาน้ำแข็งลูกนี้ถูกเรียกว่า ‘D28’ มีขนาดเล็กกว่า เกาะสกาย ในสกอตแลนด์เพียงเล็กน้อย ซึ่งการแตกตัวออกมาของ D28 หมายความว่า เจ้าหน้าที่ต้องจับตาดูภูเขาน้ำแข็งลูกนี้อย่างใกล้ชิด เพราะมันอาจเป็นอันตรายต่อการเดินเรือในอนาคตได้
ทั้งนี้ อาเมอรีเป็นหิ้งน้ำแข็งใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของทวีปแอนตาร์กติกา ขณะที่การแตกตัวของภูเขาน้ำแข็งเป็นวิธีที่หิ้งน้ำแข็งรักษาสมดุลของหิมะที่ตกลงมาและหิมะที่ทับถมกัน
ศาสตราจารย์ เฮเลน ฟริคเกอร์ จากสถาบันมหาสมุทรศาสตร์ ‘สคริปส์’ (Scripps) ย้ำว่า ไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์นี้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพราะเป็นวัฏจักรที่จะเกิดขึ้นทุก 60-70 ปี
ด้าน แผนกแอนตาร์กติกาออสเตรเลียน ของกระทรวงสิ่งแวดล้อมออสเตรเลีย ระบุว่า พวกเขาจะจับตาดูหิ้งน้ำแข็งอาเมอรีด้วยว่า จะมีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เนื่องจากการที่ภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่แตกตัวออกไป จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของความเค้นในเชิงเรขาคณิตบริเวณด้านหน้าของหิ้งน้ำแข็ง ซึ่งอาจส่งผลต่อรอยร้าวอื่นๆ