(Credit : Dr. Mike Morley, Flinders University)
เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์รัสเซียและออสเตรเลีย จากมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส ในออสเตรเลีย รายงานการค้นพบหลักฐานล่าสุดที่ได้จากถ้ำเดนิโซวา (Denisova) ในเทือกเขาอัลไต ทางตอนใต้ของไซบีเรีย หลังจากใช้การทำงานประยุกต์ระหว่างธรณีวิทยาและโบราณคดีไขความกระจ่าง ชี้ให้เห็นว่าสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่เคยครอบครองถ้ำแห่งนี้มานานกว่า 300,000 ปีที่ผ่านมาพร้อมๆกับมนุษย์โบราณหลายสายพันธุ์
จากการตรวจสอบจุลสัณฐานวิทยาของซากสิ่งสกปรกที่พบในถ้ำ ทีมค้นพบเบาะแสเกี่ยวกับการใช้ถ้ำ และการใช้ไฟของมนุษย์โบราณ รวมถึงการปรากฏตัวของสัตว์อื่นๆ ทีมได้ใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจดูตะกอนขนาด 3-4 เมตรที่เหลืออยู่ในถ้ำและซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล (fossil) ที่ถูกทิ้งไว้โดยสัตว์ที่กินสัตว์อื่น เช่น ไฮยีนาถ้ำ หมาป่า และหมีหลายชนิด ก่อนที่พวกมันจะสูญพันธุ์ไปทั่วยูเรเซีย การวิจัยใหม่เผยว่ากลุ่มโฮมินิน (hominin) หรือกลุ่มสายพันธุ์มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น เดนิโซวาน, นีแอนเดอร์ธัล, โฮโม เซเปียนส์ยุคต้น และสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่อย่างไฮยีนาและหมาป่า ได้ทิ้งร่องรอยไว้
...
ทีมนักวิทยาศาสตร์เผยว่า การวิจัยชี้ให้เห็นถึงการเข้ามาใช้ถ้ำเป็นระยะๆของมนุษย์โบราณ หลักฐานคือร่องรอยการใช้ไฟ แต่พวกเขาอาจจะเข้ามาและจากไป หรือเป็นการอพยพระยะสั้น ส่วนในช่วงเวลาอื่นๆที่ไม่มีมนุษย์อยู่ถ้ำนี้ก็จะถูกครอบครองโดยสัตว์นักล่าขนาดใหญ่นั่นเอง.