เชฟสาวฟิลิปปินส์ รณรงค์เกษตรกรหันมาปลูกต้นโกโก้ สู้ภัยไต้ฝุ่น ที่ถล่มฟิลิปปินส์บ่อยมาก ชี้ไอเดียนี้ เกิดขึ้นจากการเห็น โกโก้เป็นต้นไม้ที่ยังยืนหยัดต้านพายุได้ หลังโดนไต้ฝุ่นนกเต็นถล่ม

เมื่อ 23 ก.ย.62 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แม้มนุษย์ไม่อาจเอาชนะ “ภัยธรรมชาติ” ได้ แต่สามารถปรับตัวเพื่อต่อสู้และลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติได้ถ้ามีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ดังเช่น น.ส. ลุยเซ มาบูโล เชฟหรือแม่ครัวใหญ่ชาวฟิลิปปินส์ วัยแค่ 21 ปี ซึ่งปิ๊งไอเดีย รณรงค์ให้เกษตรกรหันมาปลูกต้น “โกโก้” (Cocoa) ที่ใช้ผลิตช็อกโกแลต สู้กับไต้ฝุ่นรุนแรงท่ีพัดถล่มฟิลิปปินส์บ่อยครั้งในแต่ละปี

มาบูโลตั้งโครงการ “โกโก้ โปรเจกต์” ขึ้นท่ีเมืองซาน เฟอร์นานโด ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางใต้ประมาณ 390 กิโลเมตร หลังเมืองนี้ถูกไต้ฝุ่น “นกเต็น” พัดถล่มในปี 2559 หรือเกือบ 3 ปีก่อน จนวิถีชีวิตของชาวเมืองถูกทำลายย่อยยับ บ้านเรือนกว่า 4,000 หลังพังพินาศ พืชผลทางการเกษตรกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เสียหาย แต่มาบูโลสังเกตเห็นว่า แม้พืชผลต่างๆ ที่ชาวบ้านเคยนิยมปลูกเป็นหลัก ทั้งข้าว ข้าวโพด และมะพร้าว ถูกทำลายแทบไม่เหลือ แต่ต้น “โกโก้” ยังยืนหยัดสู้พายุรุนแรงได้

...

มาบูโลจึงเริ่มรณรงค์ให้เกษตรกรในเมืองซาน เฟอร์นานโด หันมาปลูกพืชท่ีแข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และยั่งยืนอย่างต้นโกโก้ ซึ่งต้านทานไต้ฝุ่นได้ อีกทั้งมันสร้างรายได้อย่างงามให้เกษตรกรไม่แพ้พืชผลอื่นๆ เพราะตลาดเมล็ดโกโก้และตลาดช็อกโกแลตยังใหญ่โตเป็นท่ีต้องการทั่วโลก อีกทั้งดินและสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคนี้ก็เหมาะกับการปลูกโกโก้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงมาก ทำให้สามารถฟื้นฟูและรักษาสภาพดินได้อีกด้วย

มาบูโลเคยเข้าแข่งขันรายการเรียลลิตี้โชว์ทางโทรทัศน์ “จูเนียร์ มาสเตอร์เชฟ” การแข่งขันทำอาหารในระดับเยาวชน ขณะอายุ 12 ปี และเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ เธอยังเป็นผู้พิชิตรางวัล “ยัง แชมเปียน ออฟ ดิ เอิร์ธ” ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกไปหมาดๆ เมื่อ 18 ก.ย.ท่ีผ่านมา ซึ่งเธอจะเดินทางไปร่วมประชุมสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ท่ีนครนิวยอร์กในสัปดาห์นี้ด้วย และประกาศจะนำเงินรางวัลที่ได้ไปใช้ในการฝึกอบรมเกษตรกรให้ปลูกต้นโกโก้

จากการประเมินของยูเอ็น ในช่วง 40 ปีหลัง ภัยพิบัติทางธรรมชาติสร้างความสูญเสียให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกถึง 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 40,300 ล้านบาท) โดยจีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบจากไต้ฝุ่นรุนแรงที่สุด ทั้งนี้ ในแต่ละปี ภูมิภาคเอเชียเผชิญไต้ฝุ่นเฉลี่ย 29 - 30 ลูก โดยไต้ฝุ่นลูกใหญ่ๆ พัดถล่มหรือพัดผ่านฟิลิปปินส์มากที่สุดเฉลี่ยถึง 20 ลูกต่อปี