ก่อนหน้านี้ คนที่เลี้ยงแมวหรือคนที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ อาจเข้าใจว่าสัตว์เลี้ยงของตนใช้สารคัดหลั่งในร่างกาย โดยส่งกลิ่นจากก้นหรือทวารหนักเพื่อทำเครื่องหมายแสดงอาณาเขต หรือสื่อสารกับสัตว์ตัวอื่นๆ ล่าสุดมีการวิจัยใหม่จากศูนย์ข้อมูลทางพันธุกรรมแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเดวิส ในสหรัฐอเมริกา ชี้ว่าสารประกอบที่ส่งกลิ่นจากแมวเพศผู้ไม่ได้เกิดขึ้นจากแมว แต่เกิดจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในต่อมเหม็นหรือต่อมข้างทวารหนัก (Anal Sacs)

นักวิจัยได้วิเคราะห์สารประกอบที่หลั่งจากทวารหนักของแมวเบงกอลเพศผู้ตัวหนึ่ง ที่เจ้าของแมวอาสานำแมวของตนเข้าร่วมโครงการแอนิมอลไบโอม (Animal Biome) นักวิจัยได้สกัดดีเอ็นเอเพื่อหาลำดับและระบุชนิดของแบคทีเรีย พร้อมกับนำตัวอย่างการวิเคราะห์กลิ่นของสารเคมีในห้องปฏิบัติการของแผนกวิศวกรรมเครื่องกล การบินและอวกาศในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิสมาประกอบการวิจัย ผลลัพธ์เผยว่าการจัดลำดับพบว่าชุมชนจุลินทรีย์ไม่ได้มีความหลากหลาย และพบสารประกอบระเหยได้ 67 ชนิดถูกปล่อยออกมาจากเชื้อแบคทีเรีย โดยสารประกอบ 52 ชนิดพบโดยตรงในต่อมข้างทวารหนัก

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเผยว่าต้องการติดตามศึกษาดูแมวมากขึ้น เพราะหากกลิ่นเหล่านี้เกิดจากแบคทีเรีย ทำไมแมวถึงมีกลิ่นที่ต่างกัน เพื่อช่วยทำความเข้าใจว่าจุลินทรีย์มีอิทธิพลต่อกลิ่นของสัตว์อย่างไร ซึ่งอาจมีนัยที่กว้างขึ้นต่อการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสื่อสารด้วยกลิ่นในสัตว์.