เทียบกันระหว่างแผนการการถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ ระหว่างแผนทางเลือกของนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนที่แล้ว นางเทเรซา เมย์ กับนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน นายบอริส จอห์นสัน ผมว่าแผนของนางเมย์ชัดเจนกว่า แต่ที่ทำให้นางเมย์ต้องลาออกและนายจอห์นสันมาเป็นผู้นำแทน ก็เพราะตอนนั้นสภาสามัญของอังกฤษโหวตปฏิเสธแผนการของนางเมย์ถึง 3 ครั้ง
ผมว่าแผนทางเลือกของนายกฯจอห์นสันเบาหวิว เมื่อนำไปคุยกับสหภาพยุโรป ก็ไม่มีใครยอมรับ อย่างเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายจอห์นสันไปกรุงลักเซมเบิร์ก ความมุ่งหวังตั้งใจของแกก็คือ ต้องการหารือเป็นการส่วนตัวกับนายฌอง-โคลดยุงเกอร์ นายยุงเกอร์มีอิทธิพลในสหภาพยุโรปสูง เพราะแกเป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรป คณะกรรมาธิการนี้นี่ละครับ ที่เป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป
อีก 2 คนที่อยู่ในที่ประชุมที่นายจอห์นสันไปพบด้วยก็คือ นายมิเชล บานิเยร์ หัวหน้าคณะเจรจาเรื่องเบร็กซิตของสหภาพยุโรป และอีกคนหนึ่งคือ นายซาเวียร์ เบตเทล นายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์ก ก่อนจะเดินทางมา นายจอห์นสันโม้ว่า แกจะมาคุยแผนการเบร็กซิตจริงจังกว่าของเก่า แต่พอเอาเข้าจริงๆ อ้า กลับไม่มีอะไรใหม่เลย แต่นายจอห์นสันก็ยังยืนกระต่ายขาเดียวกับที่ประชุมเมื่อวันจันทร์ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่อังกฤษจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหภาพยุโรปก่อนถอนตัวอย่างเป็นทางการใน 31 ตุลาคม 2562 แถมยังโม้อีกว่า จะยังไงก็ตามแกไม่เลื่อนเด็ดขาด
การไปเยือนลักเซมเบิร์กครั้งนี้ นายจอห์นสันโดนด่าเยอะนะครับ โดยปกติเมื่อเจรจาเสร็จก็ต้องมีการแถลงข่าวคู่กัน แต่นายจอห์นสันแผ่นแน่บ ทิ้งให้นายกฯลักเซมเบิร์กแถลงข่าวอยู่คนเดียว ไม่ต้องคนฉลาดมากก็มองออก ว่านายจอห์นสันพยายามโอนความรับผิดชอบไปให้นายกฯ ลักเซมเบิร์ก เรื่องการถอนตัวฯครั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะมีเรื่องวุ่นวายขายปลาช่อนตามมาเยอะแยะ พอเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น คนที่ไม่รู้ที่มาที่ไปก็อาจจะตำหนิติเตียนคนที่ออกมาแถลงข่าว (คือนายกฯลักเซมเบิร์ก) หลายคนบอกว่านายจอห์นสัน
นิสัยใช้ไม่ได้ที่มาโยนขี้ใส่เพื่อน จับทุกคนเป็นตัวประกัน
...
หลายคนบ่นเสียดายเวลาตั้งแต่วันที่ลงนามในสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป (บางคนเรียกสนธิสัญญามาสตริกต์) กว่าสนธิสัญญานี้จะออกมาได้ ระหว่างเดือนธันวาคม 2533 - ธันวาคม 2534 เป็นเวลา 1 ปี มีการประชุมแล้ว ประชุมอีก ทั้งประชุมเพื่อจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงินยุโรป และประชุมเพื่อจัดตั้งสหภาพการเมืองยุโรป หลังจากนั้นก็มีการลงนามโดยชาติสมาชิกประชาคมยุโรป 12 ประเทศที่เมืองมาสตริกต์ของเนเธอร์แลนด์เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2535 และมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2536
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศในยุโรปก็รวมตัวกันอย่างมั่นคงแข็งแรง แม้แต่สกุลเงิน หลายประเทศก็ยังยกเลิกสกุลเงินของตนเองหันมาใช้สกุลเงินยูโร เงินยูโรก็มีบทบาทสำคัญในโลกจนกระทั่งทุกวันนี้
อังกฤษง่อนแง่นตั้งแต่แรกแล้วครับ ตอนที่เข้าร่วมครั้งแรก มีคนอังกฤษไม่เห็นด้วยกับการรวมยุโรปเยอะ เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาก็ไม่ค่อยเอาด้วยกับสนธิสัญญามาสตริกต์ และการเข้าร่วมกระบวนการการบูรณาการยุโรปโดยทั่วไป การให้สัตยาบันเข้าร่วมกับสหภาพยุโรปทำให้เสียงของรัฐบาลอนุรักษนิยมลดฮวบ การเลือกตั้งทั่วไปเดือนเมษายน 2535 ทำให้รัฐบาลอนุรักษนิยมของนายจอห์น เมเจอร์ ได้ที่นั่งในสภาสามัญน้อยลง
ตอนนั้น อังกฤษมีปัญหาวิกฤติการเงินอย่างหนัก ขนาดต้องถอนเงินปอนด์สเตอร์ลิงออกจากอีอาร์เอ็ม การให้สัตยาบันในรัฐสภาอังกฤษก็ช้าและลำบาก นายเมเจอร์ก็เหมือนกับนายจอห์นสันตอนนี้ละครับ ต้องชกกับทั้งปัญหาภายนอก-ภายใน สมัยนั้น
มีวิกฤติที่ต้องให้สนธิสัญญามาสตริกต์ผ่านการให้สัตยาบันให้ได้ ซึ่งเป็นวิกฤติที่ ‘จะเข้า’ สหภาพยุโรป
พอมาสมัยนี้ อ้าว อังกฤษมีวิกฤติอีกแล้ว
คราวนี้เป็นวิกฤติที่ ‘จะออก’.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com