ประเทศออสเตรเลียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีชุมชนชาวไทยอาศัยอยู่จำนวนมาก ตัวเลขที่ลงทะเบียนไว้กับหน่วยราชการไทยในออสเตรเลียมี 55,000 กว่าคน แต่ทางการออสเตรเลียคาดว่าชาวไทยอาศัยอยู่ในออสเตรเลียกว่า 1 แสนคน
นครซิดนีย์ นับเป็นเมืองที่มีชาวไทยอาศัยและเปิดกิจการร้านค้าอยู่มากที่สุดหลายหมื่นคน น้องๆ นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกานอกจากนั้นกระจายไปอยู่ตามเมืองต่างๆ อาทิ กรุงแคนเบอร์รา เมลเบิร์น บริสเบนเพิร์ธออเร้นจ์
ดังนั้น ประเทศออสเตรเลีย จึงเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กำหนด จัดโครงการบูรณาการสหวิชาชีพเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและบทบาทคนไทยในต่างประเทศ ณ เครือรัฐออสเตรเลียไปบริการ รับฟังปัญหา พร้อมให้คำแนะนำด้านต่างๆ

...
นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล ได้นำ คณะสหวิชาชีพไปบูรณาการช่วยเหลือคนไทยในออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 30 ส.ค.-9ก.ย.2562
โดยประสานงานกับ นางนันทนา ศิวะเกื้อ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา และ นายจักรกฤดิ กระจายวงศ์ กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ให้ข้อมูลเรื่องความต้องการด้านบริการของชุมชนชาวไทยในเมืองต่างๆ
ส่วน คณะสหวิชาชีพ ที่ร่วมโครงการไปด้วยครั้งนี้ มี นายชัญชายืนยง-จงเจริญ ผอ.กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ และ น.ส.ศิริพร ศุภนิมิตรวิเศษกุล นักการทูตชำนาญการพิเศษ จากกองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล


นอกจากนี้ยังมี นายสุโสฬส พึงบุญ ผอ.กองทะเบียนราษฎรทั่วไป กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย น.ส.ภัทรีนาฏ บุญชู พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการ จากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข น.ส.สมจินตนาอินทร์นอก หรือ ครูดาว วิทยากรด้านการเพนต์เล็บ ในเครือข่ายกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และ นายดำฤทธิ์ วิริยะกุล บก.ข่าวภูมิภาค นสพ.ไทยรัฐ ในฐานะกงสุลอาสา
...
วันแรก คณะสหวิชาชีพ ได้ไปพบปะกับชาวไทยที่ห้องประชุม บริษัท เอ็ดดูเคชั่น เซ็นเตอร์ นครซิดนีย์ นายชาตรี อธิบดีกรมการกงสุล และนายจักรกฤดิ กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ได้พบปะพูดคุยกับชาวไทยจำนวนมาก
นายสุโสฬส พึงบุญ ผอ.ทะเบียนราษฎรทั่วไป กรมการปกครองพร้อมคณะ ได้แนะนำและให้คำปรึกษาเรื่องกฎหมายสัญชาติ การเกณฑ์ทหาร งานทะเบียนราษฎร การถือครองทรัพย์สินและที่ดิน พร้อมตอบข้อซักถาม

...

ส่วน น.ส.ภัทรีนาฏ บุญชู พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต มีผู้มาขอคำปรึกษาและต้องส่งต่อไปให้พบแพทย์ของทางการออสเตรเลียต่อไปด้วย
กิจกรรมที่ถือเป็นไฮไลต์และคนมารอกันล้นหลามคือ การสอนเพนต์เล็บและต่อเล็บ โดย น.ส.สมจินตนา อินทร์นอก หรือ ครูดาว วิทยากรด้านการเพนต์เล็บ ในเครือข่ายกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีสาวน้อยสาวใหญ่รวมทั้งนักศึกษาลงทะเบียนจนล้น ทั้งรอบเช้ารอบบ่ายเกือบ 200 คน และยังขอไปเรียนต่อที่สถานกงสุลด้วย
สอบถามนักศึกษาและสาวๆที่มาเรียนเล่าว่า การเพนต์เล็บและต่อเล็บกำลังเป็นที่นิยมในออสเตรเลีย ทุกวันต้องไปรอคิวยาว การที่ กรมการกงสุล นำคณะมาเปิดสอนตามคำเรียกร้องครั้งนี้ทุกคนรอคอย เพราะเรียนแล้วได้รับประกาศนียบัตรที่จะนำไปต่อยอดประกอบอาชีพ ทำงานกับร้านเสริมสวยและรับงานเองไปบริการตามบ้านต่างๆได้ด้วย
...


วันเดียวกัน นายชาตรี อธิบดีกรมการกงสุล และนายจักรกฤดิ กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ยังวิ่งรอกไปร่วมเปิดการแข่งขันฟุตบอล “Sydney ThailandCop ครั้งที่ 1” ซึ่ง กระทรวงการต่างประเทศ ให้งบสนับสนุน เพื่อส่งเสริมการสร้างชุมชนเข้มแข็ง
จากนั้น นายชาตรี และ นายจักรกฤดิ ได้ไปพบปะชุมชนไทยในงานทอดผ้าป่า ที่ วัดพุทธรังษี ลูเมียห์ สอบถามปัญหาต่างๆ พร้อมตอบข้อซักถามและให้คำแนะนำ สร้างความดีใจแก่ผู้ไปร่วมงานที่วัด
นอกจากนี้ได้เชิญ รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดีกำกับดูแลด้านการพัฒนางานใหม่และนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปแนะแนวโอกาสการทำงานและทำธุรกิจในประเทศไทยให้แก่นักศึกษาไทยในนครซิดนีย์ด้วย


เสร็จภารกิจที่นครซิดนีย์นี้ นายชาตรี อธิบดีกรมการกงสุล ได้นำคณะสหวิชาชีพเดินทางไปยังกรุงแคนเบอร์รา สมทบกับคณะของ นายวิชชุ เวชชาชีวะ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ เข้าร่วมหารือกับ นางฟิโอนาเว็บสเตอร์
รก.อธิบดีกรมการกงสุลและการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน กระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย
การเข้าพบครั้งนี้ได้ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉินที่มีความเป็นเลิศของประเทศออสเตรเลีย พร้อมเยี่ยม ศูนย์บัญชาการสถานการณ์ฉุกเฉิน (Crisis Center) สายด่วน 24 ชั่วโมง สำหรับตอบคำถามประชาชนในช่วงที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อประสานความร่วมมือกันต่อไป
นอกจากนี้ คณะของ นายชาตรี อธิบดีกรมการกงสุล ได้เข้าหารือด้านการบริหารและปัญหาการบริการคนไทยกับ นางนันทนา ศิวะเกื้อ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา

เมืองสุดท้ายที่ไปบูรณาการการบริหารคนไทยในออสเตรเลีย คือ นครเมลเบิร์น โดยจัด กงสุลสัญจร ไปบริการประชาชน พร้อมโครงการบูรณาการสหวิชาชีพดังเช่น 2 เมืองที่ผ่านมา
จากการสำรวจชุมชนไทยของ ทีมข่าวไทยรัฐ พบว่าปัจจุบันมี นักศึกษาไทย ประมาณ 5,000คน ไม่สามารถอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลียต่อไปได้ ต้องทยอยเดินทางกลับประเทศไทย
เนื่องจากบางคนเรียนจบแล้วแต่ไม่สามารถสอบเพื่ออยู่ถาวรได้ บางคนไม่ไปเรียนมัวแต่ทำงาน จึงไม่มีประวัติการเรียนที่ต่อเนื่องจึงไม่ได้รับการต่อวีซ่า และบางคนแต่งงานกับคนสัญชาติออสเตรเลียแต่ไม่สามารถขอวีซ่าอยู่ถาวรได้ ฯลฯ

ผู้ดูแลนักเรียนฝากเตือนนักศึกษารุ่นใหม่ที่จะไปเรียนในออสเตรเลียว่า แม้ทางการออสเตรเลียจะอนุญาตให้นักศึกษาทำงานได้ แต่ถ้าไม่เรียนจริงๆ จะมีปัญหาในการต่อวีซ่าและต้องกลับประเทศ.
ทีมข่าวภูมิภาค รายงาน