ลุดอคือรัฐสภาของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งประกอบไปด้วย 2 สภา คือปยีตูลุดอ (สภาผู้แทนราษฎร) และอมโยตาลุดอ (สภาชาติพันธุ์) คนเมียนมาเรียกปยีตูลุดอและอมโยตาลุดอโดยรวมว่าปยีดองซูลุดอ (รัฐสภาแห่งสหภาพ)
อังคาร 30 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการข้ามพรรคมีข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อเอาไปอภิปรายกันในสภามากกว่า 3,700 เรื่อง บางเรื่องเป็นการปรับเปลี่ยนในสิ่งเล็กน้อย บางเรื่องใหญ่โตมโหฬารถึงขนาดอาจจะเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจของประเทศได้
รัฐธรรมนูญเมียนมาฉบับปัจจุบันกำหนดให้ลุดอมี 2 สภา ให้สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกมาจากทั้งการเลือกตั้งและจากผู้แทนของกองทัพที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นผู้เสนอ ปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎรของเมียนมามี ส.ส. 440 คน จำนวนนี้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 330 คน และมาจากการแต่งตั้งของกองทัพเมียนมา 110 คน
ส่วนสภาชาติพันธุ์ กำหนดให้มีสมาชิกที่เลือกจากรัฐและเขตปกครองและสมาชิกที่ผู้บัญชาการกองทัพเป็นผู้เสนอ ปัจจุบันสมาชิกสภาชาติพันธุ์ของเมียนมามี 224 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 168 คน และมาจากการแต่งตั้งโดยกองทัพ 56 คน
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางซูจีกำลังผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการเสนอลดจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มาจากผู้แทนกองทัพ ซึ่งการลดนี่ไม่ได้ลดอย่างฉับพลันทันที แต่ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้แทนจากกองทัพหมดไปภายใน 15 ปี
ผมว่าความฝันของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเป็นจริงได้ยาก เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้เสียงผู้แทนมากถึงร้อยละ 75 ของสมาชิกทั้งหมด ยากที่สมาชิกจากฝ่ายทหารจะยกมือลงมติให้มีการแก้ไข แม้แต่การเปิดอภิปรายในวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม 2562 พวกผู้แทนฝ่ายทหารก็ไม่ยอมเข้าร่วมประชุมด้วย
พลเอกอาวุโสมิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาพูดไว้เมื่อต้นปีนี้ว่า “กองทัพไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง การแก้ไขจะเกิดขึ้นต่อเมื่อจำเป็น” หลายคนบอกว่าท่านพูดอย่างนี้ เหมือนกับผู้ชายถามผู้หญิงว่า “คุณรักผมไหม” และผู้หญิงตอบว่า “ดิฉันไม่ใช่ไม่รัก นะคะ” ซึ่งเป็นคำตอบกำกวมที่ทำให้ผู้ชายงง ไม่รู้ว่ารัก หรือไม่รักกันแน่
...
การเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2558 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางซูจีชนะพรรคสหสามัคคีและการพัฒนาของนายพลเต็งเส่ง
แม้พรรคสันนิบาตฯ ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย แต่นางซูจีไม่ได้เป็นประธานาธิบดี เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่ให้ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมีคู่สมรส หรือบุตรเป็นชาวต่างชาติ นางซูจีตกคุณสมบัติข้อนี้ เพราะเธอมีบุตรกับสามีผู้ล่วงลับชาวอังกฤษ นางซูจีจึงต้องไปเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษ
รัฐธรรมนูญเมียนมามีลักษณะพิกลพิการมาโดยตลอด *รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 (ผ่านการประชามติของประชาชน พ.ศ.2516) กำหนดให้ เมียนมาปกครองโดยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว คือพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า การเลือกตั้ง พ.ศ. 2517 มีประชาชนมาใช้สิทธิออกเสียงมากถึงร้อยละ 94.6 และ ส.ส.451 คน ทั้งสภาเป็นของพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า
พ.ศ.2533 ทหารยอมให้มีการเลือกตั้งแบบหลายพรรค โดยคิดว่าตัวเองคุมประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดขนาดนี้แล้ว ประชาชนต้องเลือกพรรคทหารมาปกครองประเทศแน่ แต่ผิดคาดครับ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางซูจีที่เพิ่งตั้งชนะถล่มทลาย ทหารจึงยกเลิกผลการเลือกตั้ง และปกครองประเทศแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จมาอีก 25 ปี
การเลือกตั้ง พ.ศ.2558 ซึ่งห่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนนานถึง 25 ปี ทหารเมียนมารักษาอำนาจของพวกตนแน่นหนา ด้วยการเอาคนของฝ่ายทหารไปใส่ไว้ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและสภาชาติพันธุ์ ผลการเลือกตั้ง พรรคของนางซูจีก็ยังชนะถล่มทลายอีก
ผมคิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดผู้แทนฝ่ายทหารและปลดล็อกให้นางซูจีเป็นประธานาธิบดีเป็นไปได้ยากครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com