หลายครั้งที่งานศิลปะช่วยเชื่อมโยงผู้คนให้ช่วยเหลือจุนเจือ และส่งความปรารถนาดีต่อกัน เช่น การใช้ศิลปะเป็นสื่อในการส่งผ่านความช่วยเหลือให้กับผู้ลี้ภัย อย่างในโครงการของ สำนักงานข้าหลวงผู้ลี้ภัย แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) ที่ริเริ่มรณรงค์งาน “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างนอก” เพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัยและระดมทุนจัดหาที่พักพิงแก่ผู้คนไร้ถิ่น 2 ล้านคน ที่อยู่ในจอร์แดน เลบานอน รวันดา และชาด
ปัญหาผู้ลี้ภัยนับเป็นวิกฤตการณ์สำคัญอย่างหนึ่งของโลก ปัจจุบันมีผู้คนพลัดถิ่นฐานมากถึง 70,800,000 คนในทั่วโลกส่วนใหญ่ คือการหลบหนีให้พ้นจากพื้นที่สงคราม หรือหนีจากความยากจนข้นแค้น และดูทีแล้วจำนวนผู้อพยพเหล่านี้จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายความว่าทุนรอนในการช่วยเหลือก็ต้อง เพิ่มขึ้นตาม ด้านยูเอ็นเอชซีอาร์เผยว่า ในแต่ละปีนั้นการจัดหาอุปกรณ์และที่พักพิงชั่วคราวให้แก่ครอบครัวผู้ลี้ภัยต้องใช้งบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว ดังนั้น การหาพันธมิตรเพื่อช่วยในการระดมทุนจึงเป็นเรื่องจำเป็น
ในไทยเราเองก็มีโครงการที่ทำต่อเนื่อง อย่างการนำศิลปะมาเป็นสื่อกลางให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาผู้ลี้ภัย ในชื่อ “นิทรรศการศิลปกรรมเพื่อผู้ลี้ภัย” ซึ่งจัดขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 เพื่อให้ผู้รักศิลปะได้เสพชมความงามของชิ้นงาน และยังเผื่อแผ่ความช่วยเหลือสู่ผู้ลี้ภัยด้วยการจับจองผลงานของศิลปินระดับชาติและนักแสดงที่มีชื่อเสียงรวมทั้งหมด 30 คน
ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ หนึ่งในศิลปินที่ส่งงานเข้าร่วม เผยว่า เม็ดเงินจากการจำหน่าย ผลงานแม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดแต่เชื่อว่าจะให้ภาพที่ใหญ่ขึ้นต่อการกระตุ้นเตือนถึงการร่วมมือเพื่อลดความขัดแย้ง สอดคล้องกับความคิดของศิลปิน วรสันต์ สุภาพ ที่ว่าถ้าร่วมกันทุกฝ่ายสังคมจะน่าอยู่ ศิลปินรุ่นใหม่อย่าง ภาราดา ภัทรกุลปรีดา ที่ส่งผลงานประติมากรรมน่าตื่นตะลึงก็เชื่อว่าการเสนอทัศนคติที่แตกต่างผ่านงาน อาจเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนได้เช่นกัน
...
นิทรรศการดังกล่าวจะจัดแสดงวันที่ 3–31 ส.ค.2562 ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA) ซึ่งแวะไปชมกันได้ งานศิลปะอาจให้มุมมองใหม่ว่าปัญหาผู้ลี้ภัยและสงครามไม่ใช่เรื่องไกลตัว อย่างที่ สุริยา นามวงษ์ เจ้าของผลงาน “อวตารแห่งจิต 5” เผยว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในที่อันไกลโพ้น แต่สงครามนั้นก่อเกิดที่ใจของคน
ประเด็นสำคัญของการใช้งานศิลปะเป็นสื่อก็คือเราจะชะลอ สยบสงคราม และทำให้เบาบางได้อย่างไร.
ภัค เศารยะ