มีรายงานเผยแพร่ในวารสารฟรอนเทียร์ อิน ไซโคโลจี (Frontiers in Psychology) จากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแองเกลีย รัสกิน ในประเทศอังกฤษ เผยการค้นพบครั้งสำคัญว่าสมองของผู้ป่วยและผู้เชี่ยวชาญการบำบัดนั้น มีการประสานกันในระหว่างที่ใช้ดนตรีบำบัดทำให้เชื่อว่าจะนำไปสู่การปรับปรุงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและนักบำบัดได้ในอนาคต
การศึกษาดนตรีบำบัดนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ใช้กระบวนการไฮเปอร์สแกนนิ่ง (hyperscanning) ซึ่งบันทึกกิจกรรมในสมองของคน 2 คนในเวลาเดียวกันจะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจวิธีการโต้ตอบของผู้คนได้ดียิ่งขึ้น
นักวิจัยทดสอบด้วยการเปิดดนตรีคลาสสิกให้ผู้ป่วยฟัง ขณะที่ผู้ป่วยพูดถึงอาการเจ็บป่วย โดยทั้งคู่ได้สวมเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าในสมอง (Electroencephalography-EEG) ที่มีเซ็นเซอร์จับสัญญาณไฟฟ้าในสมอง นักวิจัยพบว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งกิจกรรมสมองของผู้ป่วยได้เปลี่ยนจากเชิงลบเป็นบวกสูงสุด และหลังจากนั้นไม่นานเมื่อทำการสแกนสมองของนักบำบัด ก็แสดงผลลัพธ์ที่คล้ายกัน
นักวิจัยเผยว่า การวิจัยนี้เป็นก้าวสำคัญในการวิจัยดนตรีบำบัด ที่จะรายงานการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และความเชื่อมโยงระหว่างการบำบัด โดยยืนยันสิ่งนี้ได้ด้วยการใช้ข้อมูลจากสมอง ทั้งนี้ นักวิจัยเผยว่าดนตรีบำบัดสามารถปรับปรุงสุขภาพที่ดีขึ้นและรักษาความวิตกกังวล ซึมเศร้า ออทิสติก และภาวะสมองเสื่อม นักบำบัดจึงต้องพึ่งพาการตอบสนองของผู้ป่วยเพื่อหนทางรักษาที่มีประสิทธิภาพ.