พื้นที่ชายฝั่งตอนเหนือกรุงมะนิลา เมืองหลวงฟิลิปปินส์ ค่อยๆยุบเฉลี่ยปีละ 4 ถึง 6 ซม.นับตั้งแต่ช่วงปี 2546 ความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าประมาณการ ยิ่งถ้าเทียบกับค่าเฉลี่ยระดับน้ำทะเลทั้งโลกสูงขึ้นปีละราว 3 มิลลิเมตร

หลายสิบปีที่ผ่านมา ชาวบ้านแถบนั้นอพยพย้ายถิ่นเพราะบ้านโดนน้ำท่วมแล้วกว่า 5,000 ครัวเรือน ส่วนกลุ่มชาวบ้านที่ยังปักหลักอยู่ที่เดิม ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต “คนน้ำ” ใช้เรือสัญจรไปโรงเรียนหรือไปโบสถ์ หลายรายเปลี่ยนขยายอาชีพไปทำประมง

ปัญหาหลักคือ การสูบใช้น้ำบาดาลอย่างมากมายของกรุงมะนิลาเพื่อรองรับชุมชนมากกว่า 13 ล้านคน เศรษฐกิจเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว ความต้องการใช้แหล่งน้ำจืดมากขึ้น เมื่อน้ำบาดาลถูกดูดใช้ยิ่งทำให้ชั้นดินทรุดตัวเร็วขึ้น

ผนวกปัญหาระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทุกปี แต่ละปีฟิลิปปินส์เผชิญพายุรุนแรงเฉลี่ย 20 ลูก ยิ่งทำสถานการณ์เลวร้ายลงเร็ว น้ำกร่อยไหลเข้าแทนที่แหล่งน้ำจืด ทางการพยายามแก้ปัญหา เพิ่มความเข้มงวดควบคุมการขุดเจาะแหล่งน้ำบาดาลตั้งแต่ปี 2547 แต่เจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องนี้มีอยู่ราว 100 คน ไม่ทั่วถึงครอบคลุมทั้งประเทศ

อีกมาตรการรัฐบาลฟิลิปปินส์ใช้แก้ปัญหานี้คือ สร้างยกระดับถนนให้สูงช่วยเป็นแนวกั้นน้ำ แต่ก็กระทบถึงอาคารบ้านเรือนราษฎรริมถนน เพราะพื้นผิวถนนอยู่สูงระดับเดียวกับลูกบิดประตูบ้านหลายหลัง

ไม่ใช่เฉพาะกรุงมะนิลาที่เผชิญปัญหาแผ่นดินทรุดลงเรื่อยๆ ข้อมูลสถานการณ์ความเสี่ยงของโลก--The Global Risks 2019 ระบุพื้นที่ชายฝั่งทะเลของโลกมากกว่า 570 แห่ง จะเผชิญระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงเฉลี่ยครึ่งเมตรภายในปี 2593 ผู้คนจะได้รับผลกระทบมากกว่า 800 ล้านคน

เดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย เพิ่งประกาศแผนย้ายเมืองหลวงกรุงจาการ์ตา ไปสร้างใหม่บนพื้นที่ที่ยังไม่กำหนดชัดเจน เพราะกรุงจาการ์ตาก็เผชิญสถานการณ์ทรุดจมทะเลด้วยปัญหาเดียวกับกรุงมะนิลาและเช่นเดียวกับเมืองใหญ่อีกหลายแห่ง ไล่ตั้งแต่กรุงธากา (บังกลาเทศ) นครกว่างโจว นครโฮจิมินต์ เกาะฮ่องกง เมืองเมลเบิร์น เมืองไมอามี มหานครนิวยอร์ก กรุงโตเกียว นครเซี่ยงไฮ้ เมืองเวนีสและกรุงเทพมหานคร...

...

อานุภาพ เงินกระแชง