ภาพ : Patrice Courtaud, Université de Bordeaux

หลายครั้งที่แหล่งโบราณคดีก็ถูกค้นพบโดยบังเอิญ อย่างที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ.2549 มีการค้นพบซากโครงกระดูกมนุษย์ในสนามเด็กเล่นของเด็กอนุบาลแห่งหนึ่งใกล้กับเมืองบอร์โดซ์ ตอนนี้กลายเป็นแหล่งโบราณคดีชื่อ Le Tumulus des Sables ซึ่งนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย สันนิษฐานในตอนแรกว่าพื้นที่นี้ถูกใช้งานโดยชาวเบลล์ บีกเกอร์ (The Bell Beaker) ซึ่งมีวัฒนธรรมบีกเกอร์ หนึ่งในวัฒนธรรมแรกๆที่กระจายทั่วยุโรป

ทว่าการพบโลหะ เครื่องปั้นดินเผา และกระดูกสัตว์ในพื้นที่แห่งนี้ ก็ก่อเกิดความสับสนจนยากจะระบุถึงยุคสมัยของซากมนุษย์ แต่การวิจัยใหม่ล่าสุดเผยว่ามีผู้คนกลับมาใช้พื้นที่นี้เพื่อฝังศพชนเผ่าตนเองครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่ยุคหินใหม่จนถึงยุคเหล็กเมื่อราวๆ 2,000 ปีที่ผ่านมา ด้วยการใช้วิธีหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี และวิเคราะห์ไอโซโทปที่แตกต่างกัน 4 ชนิด ก็รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้คนที่ถูกฝังที่นี่ได้ คาร์บอนและไนโตรเจนได้ให้ข้อมูลของชนิดอาหารที่ผู้คนในยุคนั้นกิน การล่าสัตว์ แหล่งน้ำใกล้เคียงไปจนถึงมหาสมุทรที่อยู่ห่างออกไป 10 กิโลเมตร ซึ่งหลักฐานแสดงให้เห็นว่ามีคนที่เกิดในภูมิอากาศที่เย็นกว่ามาก เช่น ทางใต้ของเทือกเขาพิเรนีส นอกจากนี้ ยังพบฟันน้ำนมจำนวนมากรวมถึงฟันที่ไม่มีราก ชี้ว่ามีคนเสียชีวิต ในวัยเด็ก

อย่างไรก็ตาม ลักษณะดินที่ลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ไม่ได้อยู่บนเนินเขาหรือสถานที่ที่ชัดเจน ก็ทำให้สุสานฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์แห่งนี้ยังเป็นปริศนาว่าเก่าแก่มากแค่ไหน เพราะเท่าที่รู้ตอนนี้ก็คือมันถูกนำมาใช้งานอีกครั้งโดยผู้คน เมื่อ 2,000 ปีก่อน นักโบราณคดีเชื่อว่าผู้คนที่เคยถูกฝังอยู่ที่นี่มาก่อนหน้านั้นอาจมีจำนวนมากกว่านี้.

...