วันวาน...สังคมในซาอุดีอาระเบียเปลี่ยนไป เมื่อรัฐบาลผ่อนปรนอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าร่วมกิจกรรมบางอย่างทัดเทียมผู้ชายได้ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถ ชมการแข่งขันฟุตบอล

วันก่อน...สังคมในอิหร่านก็เช่นกัน หลังการปฏิวัติอิหร่านปี 2522 เริ่มปล่อยวางให้ผู้หญิงเข้าไปดูการแข่งขันฟุตบอลได้

วันนี้...สังคมในอัฟกานิสถานยิ่งเปลี่ยนไป เพราะเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นตัวแทนกลุ่มตาลีบัน ในการเจรจากับตัวแทนภาครัฐอัฟกานิสถานกับตัวแทนฝ่ายสหรัฐฯ ว่าด้วยอนาคตของอัฟกานิสถาน ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสิ้นสุดสงครามในอัฟกานิสถานที่ยาวนานกว่า 17 ปี

หากเป็นสมัยอดีต การเสพวัฒนธรรมตะวันตก ในโลกของอาหรับอาจทำให้ใครบางคนถึงตายได้จากกฎหมายอิสลามที่เคร่งครัด

แต่ ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกคนสำคัญของกลุ่มตาลีบัน บอกเลยว่า ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมแล้ว เพราะทางกลุ่มสนับสนุนด้านการศึกษาเด็กผู้หญิง และสิทธิสตรีตามหลักกฎหมายชารีอะห์ ของศาสนาอิสลาม

“เช่นเดียวกับตัวแทนที่ไปร่วมประชุมครั้งนี้ ซึ่งแม้ไม่ได้เปิดเผยชื่อ แต่มูจาฮิดก็เสริมว่า ผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวดองอะไรกับแกนนำอาวุโสของกลุ่ม พวกเขาคือชาวบ้านทั่วๆไป ทั้งจากในและนอกประเทศ ซึ่งเป็นผู้ส่งเสริมและเป็นส่วนหนึ่งช่วยค้ำยันความเป็นอิสลาม”

...

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับ A Seperation หนังสัญชาติอิหร่านเจ้าของรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ ประจำปี ค.ศ.2011 นั่นนะสิ “เจ๊หม่า” ขอติดไว้ก่อนสักสามย่อหน้า

“เจ๊หม่า” ว่า มันเกี่ยวพันกันในเรื่องเทพเจ้ากับสังคมชายเป็นใหญ่ในโลกใบนี้ ก่อนยุคที่จะมีศาสนาเกิดขึ้น โลกเราเป็นสังคมแบบสตรีนิยม ผู้นำในพิธีกรรมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงนะคะ อย่างพระแม่โพสพ เจ้าแม่คงคา แม่พระจันทร์ (คนจีนจะเรียกว่า นางฟ้าฉางเอ๋อ) ส่วนเทพเจ้าต่างๆ ในสมัยคลาสสิกที่เป็นผู้ชายนั้นเกิดขึ้นในยุคหลังที่ฝ่ายชายเริ่มจะแย่งอำนาจความศักดิ์สิทธิ์มาจากฝ่ายหญิงแล้ว

หลังมีศาสนา สังคมชายเป็นใหญ่โดยใช้การบวช (พรต) และกำลังกดขี่ ผู้หญิงไว้ นัยว่าเป็นเรื่องที่ฝ่ายหญิงไม่สามารถทำได้ ส่วนปมด้อยที่ฝ่ายชายไม่สามารถมีประจำเดือนและตั้งท้องให้กำเนิดลูกได้นั้น ถูกติ๊ต่างว่าเสมอกันโดยการขริบอวัยวะเพศของผู้ชาย เอาน่ามีเลือดออกเหมือนกัน อย่าคิดมาก ส่วนมีลูกก็ 50 : 50 ปรบมือข้างเดียวไม่เกิดแน่ๆ

สรุปแล้วโลกหมุนไปด้วยฝ่ายชายชนะขาดเรื่อยมา ดูแล้วเหมือนการประกาศว่าตัวเองหย่านมแล้วไม่ต้องพึ่งพาแม่อีกต่อไปยังไงไม่รู้ ลืมไปเลยว่าตัวเองมาจากช่องไหนของแม่ ...เราชนะแล้ว !!!

เอาละกลับมาที่ A Seperation เสียที หนังเรื่องนี้เป็นการย้อนศรเรื่องที่ว่าไว้ข้างต้น ในอิหร่านปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมชายเป็นใหญ่แน่ๆ แต่ในเรื่องนี้ ถูกดำเนินเรื่องและจบเรื่องโดยผู้หญิงล้วนๆ หนังเล่าถึงครอบครัวชนชั้นกลางที่กำลังจะหย่าร้างกัน ฝ่ายหญิงเป็นคนขอหย่า เพราะไม่อยากอยู่ในประเทศอีกต่อไป แต่ฝ่ายชายที่เป็นห่วงพ่อที่ป่วย เป็นอัลไซเมอร์ ไม่อยากออกจากบ้านเกิดตัวเอง เมื่อเมียไม่อยู่ ฝ่ายชายก็ต้องจ้างแม่บ้านมาดูแลบ้านและพ่อที่ป่วยอยู่

เรื่องมาชุลมุนตรงที่เกิดอุบัติเหตุกับแม่บ้านท้องแก่ที่ฝ่ายชายจ้างมา ถูกผลักตกบันไดแล้วเกิดแท้ง ปมอยู่ที่ฝ่ายชายผลักจริง แต่ไม่รู้ตกจริงหรือเปล่า และถ้าผลักจริง แล้วรู้ว่าเขาท้องไหม (เพราะใส่ชุด chador ชาดอว์ ผ้าคลุมสีดำผืนใหญ่รูปครึ่งวงกลมที่ยาวไปถึงพื้น) ตลอดทั้งเรื่องดำเนินไปด้วยกฎหมายอิสลาม ทำให้การดำเนินชีวิตติดหล่มทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

โดยปกติแล้ว ในลัทธิชายเป็นใหญ่นั้น ฝ่ายชายจะเป็นฟ้า คือพุ่งไปข้างหน้า เป็นแสงสว่างของการพัฒนา โดยมีฝ่ายหญิงเป็นดิน นิ่งขรึมคอยให้กำเนิด และท้วงติงว่าพุ่งให้น้อยๆหน่อยนะ แต่ใน A Separation กลับเป็นฝ่ายหญิงที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง และเป็นฝ่ายชายที่ดื้อดึงไม่เปลี่ยนอะไรเลย แม้จะต้องเสียทั้งหมดในชีวิตของตัวเองก็ตาม

...

หนังเรื่องนี้ ผู้กำกับฯ อัสการ์ ฟาร์ฮาดี บอกว่า เป็นหนังสืบสวนสอบสวน จริงจังอย่างที่สุดเพราะถ่ายทำแบบสารคดี ทุกอย่างลื่นไหลผ่านสายตาของคนดูเอง เป็นหนังชีวิตที่ดูสนุกที่สุดในชีวิต สมควรแล้วที่ผู้กำกับฯ คนนี้ จะเป็นหนึ่งเป็นเสาหลักของวงการหนังอิหร่าน (ในปี ค.ศ.2017 ภาพยนตร์ The Salesman ของเขาก็คว้ารางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศได้เป็นตัวที่สอง) อีกคนก็คือ จาร์ฟา ปานาฮี หลังถูกจำคุกแล้วสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งหนังของเขาเองก็เป็นข้อห้ามของสังคมชายเป็นใหญ่

ตอนจบขอไม่บอก เพราะหนังก็ไม่บอกเหมือนกัน แต่ที่แน่นอนในสังคมหรือบ้านที่ขาดผู้หญิงอย่าง ในหนัง เป็นตัวอย่างว่า มันไม่มีอะไรเลยที่เป็นปกติ พละกำลังความองอาจที่จะทะยานขึ้นไปบนฟ้านั้น สุดท้ายก็ต้องตกลงมาสู่ดิน นั่งกินข้าวเหงาๆคนเดียว

...

จะกลับไปหาแม่ก็กลัวเป็นเด็กไม่รู้จักโต จะกลับไปหาเมียก็กลัวโดนว่าโตแล้วทำตัวเป็นเด็กๆอีก

รู้อย่างนี้ฝ่ายชายคงอยากกลับ ไปเป็นยุคสตรีนิยมอย่างสมัยโบราณท่าจะดี...ก็มาดิคร้า!!

@เจ๊หม่า