(ภาพ) อาวุธเด็ด - คนงานจีนลำเลียงดินที่มีสินแร่โลหะหายาก (Rare Earth) เพื่อส่งออก ที่ท่าเรือเหลียนหยุนกัง มณฑลเจียงสู ก่อนนำไปสกัดเอาแร่ธาตุโลหะหายาก (รูปเล็ก) ซึ่งจีนเตือนว่าอาจใช้เป็นอาวุธตอบโต้สหรัฐฯ (รอยเตอร์)


สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯกับจีน บานปลายไม่ยอมหุบ หลังทั้งสองฝ่ายขึ้นภาษีสินค้าตอบโต้กันมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ สหรัฐฯยังขึ้นบัญชีดำ “หัวเว่ย” บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมใหญ่ที่สุดในโลก ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับ 2 ของโลก และผู้นำเทคโนโลยี “5จี” ของจีน โดยห้ามบริษัทสหรัฐฯทำธุรกิจด้วยถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล โดยอ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ แม้ระงับไว้ก่อน 90 วัน

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเป็นการสกัดกั้นจีนไม่ให้ผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีของโลก โดยใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคง หาว่าหัวเว่ยมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาล กองทัพ และหน่วยข่าวกรองของจีน ซึ่งจีนปฏิเสธมาตลอด!

จีนคงอัดอั้นตันใจเต็มแก่ที่ถูกสหรัฐฯขย่มเอาๆฝ่ายเดียว จนเมื่อ 29 พ.ค. สื่อของทางการจีนขู่ว่า จีนอาจใช้อาวุธเด็ด คือ “แร่ธาตุโลหะหายาก” (Rare Earths) ตอบโต้สหรัฐฯ เพราะจีนเป็นผู้ผลิตแร่ธาตุหายาก 17 ชนิดมากที่สุดถึง 95% ของทั้งโลก และปี 2557-2560 สหรัฐฯต้องนำเข้าจากจีนกว่า 80%

แร่ธาตุโลหะหายากเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดมิได้ในการผลิตแทบทุกภาค ทั้งภาคพลังงานหมุนเวียน การกลั่นน้ำมัน การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสมาร์ทโฟน โทรทัศน์ กล้องถ่ายรูป หลอดไฟ รถไฟฟ้า เครื่องบิน เครื่องมือแพทย์ อาวุธยุทโธปกรณ์ ฯลฯ ซึ่งถ้าจีนหยุดส่งออกให้สหรัฐฯ รับรองปั่นป่วนวินาศสันตะโร ระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯกลายเป็นอัมพาตไปแทบทุกองคาพยพ!

บทบรรณาธิการของ นสพ.พีเพิล’ส์ เดลี ถึงกับจั่วหัวว่า “สหรัฐฯอย่าประเมินความสามารถในการตอบโต้ของจีนต่ำเกินไป” และย้ำว่าสหรัฐฯต้องพึ่งพาแร่ธาตุโลหะหายากจากจีนมากเพียงใด ทั้งยังเตือนว่า “อย่าพูดว่าเราไม่ได้เตือนคุณ!” และก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และรองนายกฯหลิว เหอ ของจีน ก็จงใจไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตแร่ธาตุโลหะ
หายากแห่งหนึ่ง เป็นสัญญาณขู่ว่าจีนอาจใช้แร่ธาตุหายากเป็นอาวุธตอบโต้สหรัฐฯ

...

ส่วนหัวเว่ยเองก็สู้สุดตัว โดยยื่นฟ้องศาลสหรัฐฯในเมืองพลาโน รัฐเท็กซัส เร่งรัดให้พิพากษาโดยเร็วว่า “กฎหมายให้อำนาจด้านกลาโหมแห่งชาติ” (เอ็นดีเอเอ) ของสหรัฐฯ ที่ออกมาเฉพาะกิจเมื่อปีที่แล้ว และห้ามหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯซื้ออุปกรณ์ การบริการ หรือทำธุรกิจกับหัวเว่ยและบริษัทคู่สัญญาของหัวเว่ยนั้นละเมิดรัฐธรรมนูญสหรัฐฯหรือไม่ หลังหัวเว่ยยื่นฟ้องศาลเมืองพลาโน คัดค้าน ก.ม.นี้ตั้งแต่เดือน มี.ค.

หัวเว่ยสู้  -  นายซ่ง หลิวปิง หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของบริษัท “หัวเว่ย” แถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่หัวเว่ยในเมืองเสิ่นเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง กรณีหัวเว่ยยื่นฟ้องศาลสหรัฐฯ คัดค้านกฎหมายของสหรัฐฯ ที่สั่งห้ามหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯซื้อผลิตภัณฑ์และการบริการของหัวเว่ย โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง (เอเอฟพี)
หัวเว่ยสู้ - นายซ่ง หลิวปิง หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของบริษัท “หัวเว่ย” แถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่หัวเว่ยในเมืองเสิ่นเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง กรณีหัวเว่ยยื่นฟ้องศาลสหรัฐฯ คัดค้านกฎหมายของสหรัฐฯ ที่สั่งห้ามหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯซื้อผลิตภัณฑ์และการบริการของหัวเว่ย โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง (เอเอฟพี)

หัวเว่ยชี้ว่าสหรัฐฯไม่เคยแสดงหลักฐานใดๆว่าหัวเว่ยเป็นภัยต่อความมั่นคง นักการเมืองสหรัฐฯใช้พลังของทั้งประเทศไล่ทุบบริษัทเอกชนจีนเพื่อกำจัดหัวเว่ย จะทำร้ายลูกค้าหัวเว่ยกว่า 3,100 ล้านรายในกว่า 170 ประเทศทั่วโลก และจะทำร้ายบริษัทสหรัฐฯกว่า 1,200 บริษัท กระทบแรงงานในสหรัฐฯเองหลายหมื่นคนด้วย

คำเตือนที่ว่า “อย่าพูดว่าเราไม่ได้เตือนคุณ” (Don’t say we did’t warn you) ปกติสื่อของทางการจีนจะใช้เมื่อจีนขัดแย้งกับชาติคู่อริในเรื่องใหญ่ๆเท่านั้น เช่น มีกรณีพิพาทด้านพรมแดนกับอินเดียในปี 2560 และก่อนจีนบุกโจมตีเวียดนามในปี 2521 คำขู่สหรัฐฯครั้งนี้จึงไม่ธรรมดา!

จีนยังเคยใช้แร่ธาตุหายากเป็นอาวุธมาแล้ว โดยลดโควตาส่งออกให้ญี่ปุ่นหลังเรือยามฝั่งญี่ปุ่น 2 ลำชนเรือประมงจีนในทะเลจีนตะวันออกที่ทั้ง 2 ฝ่ายอ้างกรรมสิทธิ์ในปี 2553 ต่อมาในปี 2555 จีนก็ลดการส่งออกให้สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (อียู) อ้างว่าต้องสงวนแร่ธาตุหายากไว้และการทำเหมืองแร่นี้ทำลายสิ่งแวดล้อม คดีนี้ถูกยื่นฟ้ององค์การการค้าโลก (WTO) 2 ปีต่อมาจีนก็แพ้คดีจนต้องยกเลิกระบบโควตาส่งออกแร่ธาตุหายากในที่สุด

นักวิเคราะห์ชี้ว่า การใช้แร่ธาตุโลหะหายากสวนหมัดสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบรุนแรงสุดๆในระยะสั้น แต่จีนก็กลัวผลกระทบต่อตนเองในระยะยาวเช่นกัน เพราะจริงๆแล้ว มีแหล่งแร่ธาตุโลหะหายากอยู่อีกไม่น้อยทั่วโลก และจีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีแหล่งแร่ธาตุโลหะหายากในปริมาณมาก

ปีที่แล้ว สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) ประเมินว่าทั่วโลกมีแร่ธาตุโลหะหายากถึง 120 ล้านตัน อยู่ในจีนมากที่สุด 44 ล้านตัน ในบราซิล 22 ล้านตัน รัสเซีย 18 ล้านตัน ส่วนสหรัฐฯ ออสเตรเลียและชาติอื่นๆ รวมถึงเมียนมาและไทยเราก็มีไม่น้อย แต่สาเหตุที่ประเทศอื่นๆไม่ทำเหมืองแร่ธาตุโลหะหายาก เพราะกระทบสิ่งแวดล้อมรุนแรง ทั้งก่อขยะพิษ กากแร่ก็มีสารกัมมันตรังสีอันตราย

...

ถ้าจีนลดการส่งออกแร่ธาตุโลหะหายาก ทำให้ราคาพุ่งซื้อหาได้ยากขึ้น อาจกระตุ้นให้สหรัฐฯและชาติอื่นๆหันไปทำเหมืองแร่เอง และโลกในอนาคตมีนวัตกรรมใหม่ๆ อาจทำให้การพึ่งพาแร่ธาตุหายากลดลง

นอกจากนี้ การ “แบน” แร่ธาตุหายากต่อสหรัฐฯ เท่ากับจีน “ราดน้ำมันลงบนกองไฟ” ขยายสงครามการค้า เทคโนโลยี ไปถึงความมั่นคงเต็มลูกสูบ ซึ่งจะไม่มีใครชนะ ทุกฝ่ายเสียหาย จีนจึงต้องคิดหนักมาก

แต่ถ้าถูกกดดันมากเกินไป และมี “ศักดิ์ศรี” อภิมหาอำนาจค้ำคอ...อะไรก็อาจเกิดขึ้นได้!

บวร โทศรีแก้ว