นับว่าการก่อตั้งองค์กร “เดอะ กิฟวิ่ง เพล็ดจ์” (The Giving Pledge) ของ 2 อภิมหาเศรษฐี บิลล์ เกตส์ และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ประสบความสำเร็จไม่น้อยเมื่อบรรดามหาเศรษฐีระดับโลกมาเซ็นสัญญาบริจาคทรัพย์สินโดยมากของตนเองเพื่อการกุศล ซึ่งรายล่าสุดคือสาวสวยและรวยมากอย่าง แมคเคนซี เบซอส ก็เพิ่งเซ็นบริจาคเงินให้แก่องค์กรดังกล่าว ซึ่งเงินบริจาคคือ ครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินจำนวน 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของเธอนั่นเอง
แนวคิดการบริจาคของเธอก็ไม่ซับซ้อน บอกในทำนองว่าเมื่อมีทรัพย์สินเพียงพอที่จะดูแลชีวิตตัวเอง ก็อยากจะแบ่งปันให้กับสังคม แต่ก็ต้องใช้เวลาและความรอบคอบ แล้วก็จะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดเงินในตู้เซฟนั่นแหละ
การบริจาคของแมคเคนซี เบซอส สร้างความฮือฮาอย่างมาก หลังจากปิดฉากชีวิตคู่ 25 ปีกับ เจฟฟ์ เบซอส ซีอีโอและผู้ก่อตั้งอเมซอนยักษ์ใหญ่ค้าปลีกออนไลน์ และเป็นบุรุษที่ร่ำรวยที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของฟอร์บส์ มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 151,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 4.8 ล้านล้านบาท โดยข้อตกลงระหว่างกันเมื่อหย่าขาดนั้นฝ่ายหญิงจะได้รับสัดส่วนการถือหุ้น 4% ในอเมซอน และตอนนี้เธอติดอันดับต้นๆสตรีที่รวยที่สุดในโลกไปเรียบร้อย
...
ยังมีเศรษฐีใจบุญอีก 18 รายที่เซ็นสัญญาบริจาคให้องค์กรเดอะ กิฟวิ่ง เพล็ดจ์ เพิ่มมา เช่น พอล ทิวดอร์ โจนส์ อดีตผู้ก่อตั้งกองทุนเฮดฟันด์และเป็นนักลงทุนระดับตำนานที่มีชื่อเสียงในวอลล์สตรีต, เดวิด ฮาร์ดิง ผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจวินตันในลอนดอนตั้งแต่ปี พ.ศ.2540, ไบรอัน แอคตัน ผู้ร่วมก่อตั้งแอปพลิเคชันส่งข้อความ “วอทส์แอพ” (WhatsApp) ที่เคยทำเงินได้ราว 3,000 ล้านดอลลาร์ฯ ก่อนจะขายให้กับเฟซบุ๊กในปี 2557, พอล เซียร์รา ผู้ร่วมก่อตั้งพรินเทอเรสต์ (Pinterest) ที่เป็นโซเชียล-เน็ตเวิร์กค้นหารูปทางออนไลน์, ไบรอัน อาร์ม-สตรอง ผู้ก่อตั้งคอยน์เบส (Coinbase) ที่เป็นการแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency) หรือเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาเมื่อปี 2555 ด้านผู้อุปถัมภ์ศิลปะก็มาลงนามเช่นกัน อย่างมิทเชลล์ เรลส์ ประธานดานาเฮอร์ คอร์ปอเรชันที่ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอกชนเกลนสโตน ที่เมืองโปโตแมก รัฐแมรีแลนด์ ในสหรัฐฯ เป็นต้น
ทั้งนี้ เดอะ กิฟวิ่ง เพล็ดจ์ เริ่มต้นสมาชิกเพียง 40 คนในปี 2553 ปัจจุบันมีผู้ลงนามไปแล้ว 204 คนจาก 23 ประเทศ กระแสดีแบบนี้ก็คาดว่าจะมีเศรษฐีหัวใจมหาสมุทรทยอยกันมาเซ็นสัญญาที่ให้โดยศีลธรรมนี้เรื่อยๆ.
ภัค เศารยะ