ภูมิหลังสเปน (1)
ภูมิหลังสเปน (1)
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
ผมเรียนไปตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว ว่าพรรคที่ชนะในการเลือกตั้งที่สเปนเมื่อ 28 เมษายน 2562 คือพรรคสังคมนิยม (PSOE) ของนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ ซึ่งได้ ส.ส. 123 คน หรือเกือบร้อยละ 29 จากทั้งหมด 350 ที่นั่ง
ที่ผมบอกว่าน่าสนใจกว่านั้นก็คือ ‘พรรคว็อกซ์’ ที่ได้ ส.ส.มา 24 ที่นั่ง เพราะนี่เป็นการก้าวเข้าสู่การเมืองระดับชาติครั้งแรกของพวกขวาจัด นับตั้งแต่การสิ้นสุดยุคเผด็จการนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก อี บาอามอนเด เมื่อ พ.ศ.2518
ข่าวแนะนำ
เมื่อวานผมได้เล่าเรื่องสเปนค้างไว้ วันนี้ขออนุญาตมาเล่าต่อครับ ที่นำเรื่องความหลังครั้งก่อนมาเล่า เพราะผมว่าการเติบโตของพรรคว็อกซ์จะไม่หยุดแค่นี้ จะเติบโตเหมือนในออสเตรียและอิตาลี นโยบายขวาจัดของพรรคว็อกซ์เป็นเรื่องที่บางคนรับไม่ได้ อย่างเรื่องปกป้องความเป็นชาติสเปนจนถึงที่สุด การต่อต้านกระแสสตรีนิยม การต่อต้านผู้อพยพผิดกฎหมาย (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม) และการให้ใช้มาตรการเด็ดขาดกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกาตาลุญญา
สงครามกลางเมืองที่สู้กันระหว่างรัฐบาลกับกองกำลังชาตินิยมที่นำโดยนายพลฟรังโกในระหว่าง พ.ศ.2479-2482 จบลงด้วยฝ่ายนายพลฟรังโกชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พวกที่แพ้คือพวกนิยมกษัตริย์หรือรอยัลลิสต์ เมื่อชนะแล้วนายพลฟรังโกให้มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวคือ พรรคฟาลังเค มีนโยบายคล้ายกับที่พรรคว็อกซ์มีอยู่ในขณะนี้ นโยบายของพรรคฟาลังเคของนายพลฟรังโกในสมัยนั้นเน้นความเป็นชาตินิยม ขยายจักรวรรดิ เชิดชูศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก นายพลฟรังโกสถาปนาตัวเองเป็นทั้งหัวหน้าพรรคฟาลังเค ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประมุขของสเปน
ตอนนายพลฟรังโกเป็นผู้นำ มีสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น แกร่วมกับเยอรมนี (ฝ่ายอักษะ) โจมตีรัสเซีย (ฝ่ายสัมพันธมิตร) สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงด้วยฝ่ายสัมพันธมิตรชนะ สหประชาชาติมีมติไม่ให้สเปนเป็นสมาชิก แต่ตอนหลังพวกพี่เบิ้มในสหประชาชาติคิดกันว่า สเปนเป็นหน้าด่านที่จะต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรป ประเทศพวกนี้จึงยอมให้สเปนเป็นสมาชิกยูเอ็น
เป็นเรื่องแปลกมากครับ ที่ตอนหลังนายพลฟรังโกสถาปนาระบอบกษัตริย์ของสเปนขึ้นมาใหม่ หลังจากที่สิ้นสุดไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2474 นายพลฟรังโกประกาศว่า เมื่อใดที่แกตายหรือเกษียณจากการเป็นประมุขของรัฐ ขอให้สภากอร์เตสสรรหาบุคคลที่เหมาะสมเพื่อสถาปนาเป็นกษัตริย์สเปน ยกเว้นแต่แกจะเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นกษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการเอาไว้ก่อนด้วยตัวเอง
ใครจะเชื่อครับว่าระหว่าง พ.ศ. 2503-2517 เศรษฐกิจสเปนโตถึงร้อยละ 66 ต่อปี สเปนเปลี่ยนสถานะจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว
ความใฝ่ฝันปรารถนาของสเปนในยุคของนายพลฟรังโกคือ การเข้าเป็นสมาชิกในองค์การตลาดร่วมยุโรปหรือ Common Market (ซึ่งต่อมาคือสหภาพยุโรป) แต่ถูกปฏิเสธหลายครั้ง
22 กรกฎาคม 2512 นายพลฟรังโกเสนอให้ฆวน การ์โลส แห่งราชวงศ์บูร์บงเป็นผู้สืบตำแหน่งประมุขของประเทศและแต่งตั้งให้เป็น Prince of Spain ทำหน้าที่เป็นประมุขชั่วคราวของรัฐ 2 ครั้งตอนที่นายพลฟรังโกป่วย ต่อมาพอนายพลฟรังโกตายกลายเป็นผี เจ้าชายฆวน การ์โลส ก็ได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าฆวน การ์โลสที่ 1 เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2518
นายพลฟรังโกตายแล้ว ก็หมดยุคเผด็จการของสเปน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สเปนก็ปฏิรูปประเทศตามแนวทางประชาธิปไตย มีการยกเลิกข้อห้ามเกี่ยวกับการดำเนินการทางการเมือง เมื่อ พ.ศ.2519 พอถึง พ.ศ.2520 ก็มีการเลือกตั้งเสรีครั้งแรก การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็คือ มีรัฐธรรมนูญใหม่ที่ให้สเปนเป็นประเทศสังคมประชาธิปไตย มีกษัตริย์ในระบบสืบสันตติวงศ์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ พระเจ้าฆวน การ์โลสเป็นประมุข + ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานสภาป้องกันสูงสุด
สเปนหลังเผด็จการยึดหลักอิสรภาพ ยุติธรรม เสมอภาค และพหุนิยมทางการเมือง ส่วนภาษาราชการก็ให้มีถึง 4 ภาษา คือ กัสติเลียน กาตาลัน กัลเยโก และบาสก์
พรุ่งนี้มาว่ากันต่อครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com