(ภาพ : สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งมหาวิทยาลัยชิงหวา)
มีกลุ่มคนไทยมาทานอาหารที่ร้านของผมที่เมืองหลินกุ้ยและภัตตาคารที่เมืองกุ้ยหลินอยู่เรื่อยๆ วานนี้ มีกลุ่มหนึ่งสนใจประติมากรรมและจิตรกรรมจีน หลายคนสะสมงานจิตรกรรมและประติมากรรมของศิลปินจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ สมัยสาธารณรัฐ และสมัยสาธารณรัฐประชาชน
กระแสหนึ่งที่เกิดในหลายเมืองก็คือ การจ้างประติมากรชาวจีนไปออกแบบประติมากรรมในเมืองต่างๆของโลกตะวันตก เข้าใจว่าความอ่อนช้อยที่ซ่อนอยู่ในวัฒนธรรมจีนสร้างความประทับใจให้กับพวกฝรั่งมังค่า หลายเมืองในโลกใบนี้ไม่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวมาก จึงต้องสร้างทรัพยากรการท่องเที่ยวขึ้นมาเอง บางเมืองทำสำเร็จ ตระเวนเทียวเที่ยวไปตามถนนหนทางพบรูปปั้นต่างๆ ทั้งเทพ กษัตริย์ วีรบุรุษของชนเผ่าและของชาติ บุคคลในประวัติศาสตร์ ตัวละครในนิทานและวรรณกรรม และสัตว์ รวมทั้งประติมากรรมที่เป็นแบบนามธรรมอื่นๆ ทั้งที่ทำจากหินอ่อน บรอนซ์ ทองเหลือง สำริด ปูน ดินเผา ไทเทเนียม ฯลฯ
นักศึกษาไทยที่ไปเรียนในสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนใหญ่เรียนด้านภาษาและการบริหารธุรกิจ ในฐานะที่ผมลงหลักปักฐานครอบครัวอยู่ในประเทศจีน มีโอกาสพบปะผู้คนจากสถาบันการศึกษามากมาย ผมขอเรียนแนะนำครับ ว่าคณะที่เข้ายากสำหรับนักศึกษาจีนแต่มีโควตาสำหรับชาวต่างชาติ และชาวต่างชาติเข้าเรียนต่อได้ง่ายหน่อยคือ คณะศิลปกรรมศาสตร์
สถาบันที่น่าสนใจก็เช่น สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งมหาวิทยาลัยชิงหวา (เดิมชื่อสถาบันศิลปะและหัตถกรรมกลาง) สถาบันวิจิตรศิลป์กวางโจว สถาบันวิจิตรศิลป์กลางหรือวิทยาลัยวิจิตรศิลป์เป่ยผิงแห่งชาติ สถาบันวิจิตรศิลป์ซีอาน สถาบันวิจิตรศิลป์เสฉวน โรงเรียนศิลปะและหัตถกรรมเหอเป่ย์ ฯลฯ สถาบันวิจิตรศิลป์เหล่านี้มีในมากมายหลายเมือง ปัจจุบัน การติดต่อเข้าเรียนก็ไม่ยากเพราะมีเว็บไซต์เพื่อติดต่อกับสถาบันได้โดยตรง
...
วิชาที่น่าเรียนก็เป็นพวกจิตรกรรมประเพณี จิตรกรรมพื้นบ้าน จิตรกรรมฝาผนังโบราณ จิตรกรรมสีน้ำมันแบบเหมือนจริง ประติมากรรมพุทธศิลป์ ประติมากรรมดินเผา ประติมากรรมหิน การปั้นและแกะสลัก จิตรกรรมภาพพิมพ์ไม้ ฯลฯ
ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในประเทศจีนเพื่อเข้ามาดูงานศิลปะและประติมากรรมโดยเฉพาะ คณะบริหารเมืองแต่ละแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองท่องเที่ยวของจีนจึงสนับสนุนให้จิตรกรและประติมากรเปิดแกลเลอรีของตัวเอง มีการจัดนิทรรศการศิลปกรรมตามเมืองต่างๆ นอกจากคณะบริหารเมือง การสนับสนุนอย่างจริงจังยังมาจากกระทรวงวัฒนธรรมแห่งรัฐบาลสาธารณรัฐ ประชาชนจีนที่ดูแลกิจการด้านศิลปวัฒนธรรมโดยตรง จาก Chinese Artists Association ที่ให้การสนับสนุนอย่างแข็งแรงแล้ว ยังรวบรวมศิลปินจีนทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
ศิลปินที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของสาธารณชนจะได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งประชาชน มีศิลปินจำนวนหนึ่งได้เป็นตัวแทนของประชาชนในสภาประชาชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองระดับสูงของประเทศ งบประมาณของรัฐจำนวนหนึ่งจัดไว้สำหรับการส่งเสริมงานแสดงศิลปะจากศิลปินจีนไปแสดงตามนครและมหานครต่างๆทั่วโลก
โรงแรม 5 ดาว สถานที่สำคัญ บริษัทห้างร้านใหญ่ๆ บ้านเรือนผู้คนที่มีฐานะในโลกใบนี้ ต่างปรารถนาจะครอบครองจิตรกรรมและประติมากรรมจากศิลปินจีน โรงแรม 5 ดาวบางแห่งสร้างแรงจูงใจให้คนมาพักด้วยการติดภาพเขียนของศิลปินจีนจำนวนมาก ศิลปินจีนที่มีทักษะและฝีมือชั้นเยี่ยมมีรายได้สูงมาก อาจจะกล่าวได้ว่า จำนวนไม่น้อยฐานะร่ำรวย
การปกครอง ระบอบเศรษฐกิจ อาจจะแตกต่างกัน แต่ความงามจากศิลปะเป็นสากล หลายประเทศใช้ภาพยนตร์เผยแพร่วัฒนธรรม บางประเทศสร้างเกิร์ลกรุ๊ปเป็นไอดอลเพื่อเจาะวัยรุ่นในประเทศอื่นให้สนใจวัฒนธรรมประเทศของตัวเอง หนึ่งใน soft power ที่จีนใช้ให้คนทั้งโลกเกิดความเป็นจีนนิยมก็คือ ศิลปกรรม
เมื่อ ‘ความนิยมจีน’ เกิดขึ้นเพราะความนิยมในศิลปกรรมของจีนแล้ว ก็นิยมในสินค้าจีน เทคโนโลยีจีน บั้นปลายท้ายที่สุดเม็ดเงินจากทั้งโลกก็ไหลไปสะสมสร้างความมั่งคั่งให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน
เศรษฐีใหม่ที่เป็นเศรษฐีเพราะการสะสมงานศิลปะแขนงต่างๆ เกิดขึ้นทุกเดือนในจีน บางรายรวยเป็นพันล้าน หมื่นล้านก็มี เราจึงอาจจะพูดได้ว่า ‘งานศิลปะคือสินทรัพย์’
ผมอยากแนะนำเยาวชนไทยที่สนใจจีน แยกไปเรียนด้านศิลปกรรมศาสตร์ของจีนกันบ้างครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com