ยุคแคมเบรียน (Cambrian) เป็นช่วงเวลาที่บรรพบุรุษยุคแรกของสัตว์ทุกชนิดเกิดขึ้น เดิมนั้นนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 560 ล้านปี แต่แล้วก็ประเมินใหม่ว่า 540 ล้านปี ซึ่งการเกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายในระยะเวลาอันสั้นได้นำไปสู่ปรากฏการณ์ “การระเบิดทางชีวภาพยุคแคมเบรียน” (Cambrian explosion)
การวิจัยถึงช่วงดังกล่าวเริ่มอย่างจริงจังใน พ.ศ.2452 หลังจากนักวิทยาศาสตร์ค้นพบเบอร์เจสส์ เชล (Burgess Shale) คือพื้นที่ที่อุดมไปด้วยซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล (fossil) ที่ถูกธรรมชาติเก็บรักษาไว้อย่างดี จากนั้นมาก็มีการค้นพบพื้นที่ลักษณะนี้ตามภูมิภาคอื่นๆ ล่าสุด ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสต์ในสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยกุ้ยโจว ในจีน รายงานการค้นพบซากฟอสซิลใหม่ใกล้กับแม่น้ำตั้นสุย (Danshui) ในมณฑลหูเป่ย ซากฟอสซิลนี้ชื่อฉิงเจียง (Qingjiang) เป็นซากฟอสซิลทางทะเลจากช่วงการระเบิดทางชีวภาพยุคแคมเบรียน
นักวิจัยเผยว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ซากฟอสซิลได้รับการรักษาไว้อย่างดี โดยเชื่อว่า ที่แห่งนี้อาจเคยเป็นใต้น้ำลึกมากๆ เมื่อราว 550 ล้านปีก่อน และที่ระดับความลึกนี้มีออกซิเจนน้อยมาก จนเก็บรักษาร่างกายสัตว์ที่ตายตกลงสู่ก้นทะเล ร่างเหล่านั้นถูกปกคลุมด้วยตะกอนนับล้านปีก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงสภาวะ และพื้นที่แห่งนี้ถูกผลักให้กลายเป็นดินแดนบนบกและมีเสถียรภาพมากเพราะไม่มีภูเขาไฟหรือแผ่นดินไหวมากระทบนั่นเอง.
Credit : Dong King Fu