(Credit : Arvind Pathak)

กล้องจุลทรรศน์แบบดั้งเดิมที่ใช้ในการวิจัยและถ่ายภาพสมองจะมีขนาดใหญ่และมักจะตั้งบนโต๊ะในห้องทดลอง การถ่ายภาพสัตว์อย่างสมบูรณ์จึงต้องให้สัตว์ดมยาสลบซ้ำๆ เพื่อที่ถ่ายภาพได้ชัดเจนสมบูรณ์ แต่ยาชากลับทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในสมองสัตว์ ซึ่งส่งผลต่อการวิจัยการตอบสนอง และศึกษาโรค อีกทั้งเครื่องมือนี้ยังมีราคาแพงและมีค่าใช้จ่ายสูงต่อการใช้งาน

ล่าสุด ทีมวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ในสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนากล้องจุลทรรศน์ขนาดเล็กพกพาง่ายราคาย่อมเยา ที่ปรับปรุงความสามารถในการถ่ายภาพผลจากโรคมะเร็ง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอัลไซเมอร์ และโรคอื่นๆ กล้องจุลทรรศน์ขนาดเล็กนี้ออกแบบเสมือนกล้องมินิ โกโปร ที่เป็นกล้องถ่ายวิดีโอขนาดจิ๋ว โดยทดสอบถ่ายในสมองของหนูทดลอง ที่จะช่วยลดความจำเป็นในการดมยาสลบในสัตว์ อุปกรณ์นี้จะเชื่อมต่อเข้ากับศีรษะของสัตว์และรวบรวมภาพตามเวลาจริงจากสมองที่เคลื่อนไหวอยู่

ทีมวิจัยเผยว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยบันทึกข้อมูลมหาศาลในการทำงานขั้นพื้นฐานของสมอง ทำให้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของโรคในสภาวะที่เป็นธรรมชาติได้มากขึ้น และเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงของโรคกับพฤติกรรมของสัตว์เพื่อติดตามดูเนื้องอกในสมอง ซึ่งกล้องจุลทรรศน์นี้อาจเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการถ่ายภาพผลการรักษาโรคของยาได้ด้วย.