หลายประเทศมีแนวโน้ม “อัตราการเกิด” ลดลง และ “คนชรา” พุ่งขึ้น รวมทั้ง “จีน” ชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลก โดยปลายเดือนที่แล้ว หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี เผยแพร่ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (เอ็นบีเอส) ของจีน ล่าสุดระบุว่า อัตราการเกิดในจีนในปี 2561 ลดลงอย่างต่อเนื่องน่าวิตก

อัตราการเกิดในกรุงปักกิ่งปี 2561 ลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 2 เหลือแค่ 8.24 คนต่อประชากร 1,000 คน เทียบกับ 9.06 คนต่อประชากร 1,000 คนในปี 2560 ทำให้ปีที่แล้วประชากรปักกิ่ง ลดลงถึง 170,000 คน เหลือ 21.54 ล้านคน แม้สาเหตุอาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆด้วย มหานครเซี่ยงไฮ้ อัตราการเกิดก็ลดลงมาอยู่ที่ 7.2 คน เทียบกับ 8.1 คนต่อประชากร 1,000 คนในปี 2560 ส่วนภูมิภาคอื่นๆ เช่น มณฑลเหลียวหนิง อัตราการเกิดก็ลดลงเช่นกัน

ปีที่แล้ว อัตราการเกิดทั่วประเทศจีนลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 คือมีคนเกิดเพียง 15.23 ล้านคน ลดลงถึง 2 ล้านคนจากปี 2560 ส่วนอัตราการแต่งงานก็ลดลงทั่วประเทศเหลือแค่ 0.72% เทียบกับ 0.99% ในปี 2556

แนวโน้มนี้ยังเกิดขึ้นแม้รัฐบาลจีนผ่อนคลายนโยบาย “ลูกคนเดียว” (One-Child Policy) ตั้งแต่ปี 2559 อนุญาตให้คู่สามีภรรยามีลูกได้มากกว่า 1 คน สาเหตุหนึ่งที่คนไม่อยากมีลูก เพราะแม้เศรษฐกิจจีนเจริญรุ่งเรืองขึ้น แต่ค่าครองชีพก็สูงขึ้นมาก คู่สมรสหนุ่มสาวจึงกลัวเลี้ยงลูกไม่ไหว!

ส่วนแนวโน้มประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นปัญหาหนักอกของรัฐบาลจีน ที่ประชุมใหญ่สภาประชาชนจีน (เอ็นพีซี) เดือนที่แล้ว ถึงขั้นหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดและเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการใหม่ๆที่รุนแรงเพื่อกระตุ้นอัตราการเกิด สู้ปัญหาสังคมสูงวัย

องค์กรวิจัยคาดว่าประชากรจีนจะพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุด 1,400 ล้านคนในปี 2570 หรือ 10 ปีข้างหน้า จากนั้นจะเริ่มลดลงอย่าง “หยุดยั้งไม่ได้” ซึ่งจะส่งผลให้จำนวน “แรงงาน” ลดลง ถึง 200 ล้านคนภายในกลางศตวรรษนี้ และภายในปี 2593 หรือ 31 ปีข้างหน้า จำนวนแรงงานที่ลดลงนี้ สังคมจีนจะเผชิญแรงกดดันให้ต้อง “อุ้ม” ดูแลคนชราที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 400 ล้านคน ส่งผลให้ระบบบำนาญ สาธารณสุข บริการสังคมตึงเครียดหนัก

...

เป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตที่จีนตระหนักรู้ แต่ยังแก้ไม่ตก!

บวร โทศรีแก้ว